วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

ผักสวนครัว


 

เมื่อนึกถึง “คนเมือง” หลายคนมักนึกถึงผู้คนแต่งชุดทำงาน ถือกระเป๋าเอกสาร หน้าตาคร่ำเคร่ง กินแต่อาหารสำเร็จรูป จะเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เร่งรีบหรือจากสาเหตุอะไรก็ตาม ที่ทำให้วิถีชีวิตและค่านิยมของพวกเขาเปลี่ยนไป จนขาดทักษะในการพึ่งพาตนเองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านอาหาร ที่ต้องพึ่งพิงตลาดเพียงอย่างเดียว

การปลูกผักไว้บริโภคเองในครัวเรือน จึงถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้คนเมืองสามารถพึ่งตนเองด้านอาหารได้มากขึ้น ทั้งช่วยลดรายจ่าย ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและคนในชุมชน แถมผักยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย เพราะปัจจุบันอาหารต่างๆ ที่คนเมืองเลือกซื้อ มักเต็มไปด้วยสารเคมี ทั้งยังผ่านกระบวนการแปรรูปมาอีกหลายขั้นตอน ทำให้คุณค่าทางอาหารน้อยลง นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาวิกฤติอาหาร ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของเมือง ซึ่งเป็นปัญหาโดยรวมของสังคมอีกด้วย

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกผักไว้บริโภคเองของคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรภาคีต่างๆ จึงได้ริเริ่มโครงการสวนผักคนเมืองขึ้น นำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และนครปฐม เพื่อให้มีการอบรมขยายความคิดและพัฒนาให้เกิดการปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆ ให้งานสวนผักคนเมืองเกิดเป็นรูปธรรมและมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงช่วยสร้างสรรค์สังคมเมืองให้ดีงาม

การริเริ่มโครงการดังกล่าวขึ้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษไว้บริโภคและใช้สอย สำหรับกลุ่มครัวเรือนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไว้บริโภค เสริมสร้างการเรียนรู้และสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการพัฒนาความรู้เรื่องเกษตรในเมืองและชานเมือง รณรงค์เผยแพร่แนวคิดและรูปธรรมสู่สาธารณะ สุดท้ายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันของกลุ่มคนในเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อคนเมืองมากขึ้น

ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามาร่วมทำสวนผักคนเมืองนั้น ได้ทั้งบุคคลที่สนใจปลูกผักกินเอง กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันและใช้พื้นที่ตนเองในรูปแบบต่างๆ เช่น ทาวเฮาส์ บ้านเดี่ยว คอนโด หรือบ้านในชุมชนแออัด และกลุ่มบุคคลที่ใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน ได้แก่ ภายในโรงเรียน ชุมชนแออัด โรงงาน วัด รวมถึงบ้านจัดสรร เป็นต้น

สำหรับบุคคลหรือชุมชนใดที่สนใจอยากปลูกผัก แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มต้นอย่างไร วันนี้ขอนำเสนอการปลูกผัก 3 แบบ เผื่อคนเมืองจะเกิดไอเดียนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่อยู่อาศัยของตน


การปลูกผักบนล้อยาง สร้างประโยชน์จากยางรถยนต์เก่าๆ ที่หลายคนมองว่าไร้ค่า ใครจะรู้ว่า นอกจากใช้ปลูกผักแล้ว ล้อยางยังช่วยป้องกันการรบกวนของสัตว์และแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ด้วย ที่สำคัญเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนมีพื้นที่น้อยๆ อย่างคนเมือง


สวนครัวลอยฟ้า ไม้ประดับกินได้ การปลูกผักสวนครัวก็สามารถสร้างสรรค์ให้เกิดความสวยงามได้ไม่น้อยเช่นกัน โดยการใช้ภาชนะปลูกที่มีน้ำหนักเบา สามารถดัดแปลงให้มีขอสำหรับแขวน หรือ เกี่ยวได้ และนำไปแขวนตามจุด หรือมุมต่างๆ ของที่พักอาศัย เหมาะสำหรับที่พักอาศัยที่มีขนาดเล็ก มีพื้นที่ว่างเล็กน้อย เช่น ตามกำแพง ริมรั้ว ระเบียง ริมหน้าต่าง ผักที่เลือกมาปลูกควรเป็นผักที่หยั่งรากตื้น เช่น ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง ผักกาดหอม โหระพา กระเพรา ข้อควรระวังคือ ความชื้นของสวนครัวลอยฟ้าจะระเหยอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องหมั่นรดน้ำอยู่บ่อยๆ


ผักสวนครัวกระถาง กระสอบ หรือภาชนะ ไม่ว่าจะเป็นกะละมัง ตะกร้า หม้อ ชาม แม้แต่กล่องโฟม ก็นำมาใช้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต้องเลือกชนิดผักให้เหมาะสมนั่นก็คือ ผักรากหยั่งตื้น ได้แก่ ผักชี ต้นหมอ คะน้า ผักบุ้งจีน ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม กะหล่ำปลี สะระแหน่ ขึ้นฉ่าย ตั้งโอ๋ เป็นต้น ส่วนผักรากหยั่งลึกปานกลาง ได้แก่ กะเพรา โหระพา แมงลัก พริก มะเขือ มะเขือเทศ แตงกวา ถั่วแขก และถั่วฝักยาว เป็นต้น

พอจะได้ไอเดียกันบ้างหรือป่าวคะ ขอแนะนำอีกเรื่อง เวลาเก็บผักมากินนั้น หากเป็นผักใบ พวกคะน้า ผักบุ้ง ให้เด็ดใบมารับประทาน ไม่ต้องถอนออกทั้งต้นนะคะ เพราะมันจะแตกแขนงออกมาให้ได้รับประทานกันอีก ยิ่งถ้าเป็นพวกสะระแหน่ กะเพรา โหระพา แมงลัก ตำลึง ยิ่งเด็ดก็จะยิ่งแตกยอดให้ได้รับประทานกันตลอดปีเลยทีเดียว

นอกจากนี้ “คนเมือง” ผู้สนใจปลูกผักสามารถติดต่อขอเข้ารับการอบรม หรือขอคำปรึกษาได้จากศูนย์อบรมต่างๆ ดังนี้

-       ศูนย์อบรมเกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก (ลาดพร้าว 71) โทร. 081-867-2042
-       ศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรในเมือง ศูนย์สุวรรณภูมิ คุณชูเกียรติ โกแมน โทร.085-090-2283
-       มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา (สวนผักบ้านคุณตา สุขุมวิท 62) โทร 089-6699249, 084-1664560, 02-6170832
-       สวนเกษตรดาดฟ้า สำนักงานเขตหลักสี่ ฝ่ายรักษาความสะอาด โทร. 02-576-1393

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เลขที่ 912 ซ.งามวงศ์วาน 31 (ซอยย่อยที่7) อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 02-591-1195-6 โทรสาร 02-580-2035 และเว็บไซต์ http://sathai.org 

ที่มา : มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น