ข้าวไทยในวิกฤตอาหารโลก |
ชาวนากำลังใช้รถเกี่ยวข้าว ทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร เช่น รถไถ รถเกี่ยวข้าว ทำนาแทนแรงงานคนและสัตว์ บางคนบอกว่าเมืองไทยคืออาณาจักรข้าว คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเมื่อพิจารณาจากการที่คนไทยรู้จักทำนาปลูกข้าวกินมาแต่โบราณ ปัจจุบันข้าวเป็นอาหารหลักที่เรากินแทบทุกมื้อ ชาวนาถูกเปรียบให้เป็นกระดูกสันหลังของชาติไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ ๖๐ ล้านไร่ เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสารมากที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายปี เมื่อปี ๒๕๕๐ มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยสูงถึง ๑๒๓,๗๐๐ ล้านบาท ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตอาหารทั่วโลกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อาหารต่าง ๆ รวมทั้งข้าวมีราคาแพงขึ้น จึงส่งผลสะเทือนต่อประเทศไทยและคนไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง วิกฤตอาหารครั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับวิกฤตพลังงานของโลก เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรหลายประเทศจึงหันมาปลูกพืชพลังงานทดแทน ผลผลิตพืชอาหารจึงลดลง ธัญพืชที่เป็นอาหารสำคัญของชาวโลก เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด รวมทั้งข้าว มีราคาแพงขึ้นและเริ่มขาดแคลน หลายประเทศเกิดปัญหาวิกฤตอาหารจนถึงขั้นจลาจล ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ข้าวมีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริโภคข้าวมีมากขึ้นตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สต็อกข้าวทั่วโลกกลับลดลงต่อเนื่อง จากปริมาณสูงสุด ๑๔๐ ล้านตันข้าวสารเมื่อปี ๒๕๔๔ ลดลงเหลือประมาณ ๖๐ ล้านตันเมื่อปี ๒๕๕๐ ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ของโลก มีปริมาณสต็อกข้าวลดลงจาก ๙๗ ล้านตันเมื่อปี ๒๕๔๔ เหลือไม่ถึง ๓๐ ล้านตันในปี ๒๕๕๐ รวมทั้งปัจจัยสำคัญจากสภาวะโลกร้อน หลายประเทศต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างรุนแรง ภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องทำให้ผลผลิตข้าวสาลีเสียหาย เมื่อปีที่แล้วประเทศจีนเกิดน้ำท่วมใหญ่และหิมะปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ขณะที่ประเทศอินเดียก็ประสบปัญหาความแห้งแล้งยาวนาน ส่วนเวียดนามต้องเผชิญกับฤดูหนาวที่ยาวนาน รวมทั้งเกิดการระบาดของโรคข้าวและแมลง เมื่อทั้งจีน อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งต่างเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลกพากันชะลอและหยุดส่งออกข้าวในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อต้นปี ๒๕๕๑ เพื่อเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวสำรองภายในประเทศ ปริมาณข้าวในตลาดโลกจึงลดลงอย่างมาก สวนทางกับราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เฉพาะในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ ข้าวหอมมะลิมีราคาเฉลี่ยเกวียนละ ๘,๓๘๘ บาท แต่ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๑ ราคาพุ่งขึ้นถึงเกวียนละเกือบ ๑๓,๐๐๐ บาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๖๔ ในเวลาเพียงปีเดียว นับเป็นปรากฏการณ์อันน่าตกตะลึงที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชาวนา ผู้ประกอบการโรงสี นักธุรกิจพ่อค้าข้าว จนถึงชาวบ้านผู้บริโภค ห้วงเวลานั้น เรื่องของข้าวกลายเป็นหัวข้อข่าวที่ทุกคนให้ความสนใจ ขณะที่คนทั่วไปเริ่มตื่นตระหนกที่จู่ ๆ ข้าวสารก็มีราคาแพงขึ้นอย่างลิบลิ่ว ทั้งยังขาดแคลนจนหาซื้อยาก แต่ต่อมากลับเกิดเหตุการณ์ชาวนาหลายจังหวัดรวมตัวกันปิดถนน บางส่วนถึงกับเคลื่อนขบวนเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินและราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ชวนให้งุนงงสงสัยว่าใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ข้าวราคาแพงครั้งนี้ นิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๔๑ เคยนำเสนอสารคดีพิเศษเรื่อง "ข้าวไทย รสชาติ เมล็ดพันธุ์ และการเดินทาง" มาบัดนี้เมื่อเวลาผ่านไป ๑๐ ปี สถานการณ์ในประเทศและนอกประเทศมีความเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเกิดวิกฤตด้านอาหารและพลังงาน เราจึงตัดสินใจออกติดตามการเดินทางของข้าวไทยอีกครั้งหนึ่ง นับแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ ไปสู่ผืนนา เข้าสู่โรงสี และผ่านบริษัทส่งออกสู่ตลาดโลก เพื่อค้นหาว่าแต่ละช่วงตอนมีปัญหาและอุปสรรคอะไรซุกซ่อนอยู่ และข้าวไทยจะมีแนวโน้มไปทางใดท่ามกลางโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความผันผวน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บรักษาไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปทดสอบการงอก และนำไปปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์ ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ จ.ปทุมธานี เก็บรักษาตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ ๒๐,๐๐๐ สายพันธุ์ หลายชนเผ่าทางภาคเหนือยังปลูกข้าวไร่ โดยใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ๑. เราเดินทางมาที่ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ อ. ธัญบุรี จ. ปทุมธานี เพราะศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ข้าวจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ภายในอาคารชั้นเดียวพื้นที่ ๑,๒๘๕ ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องอนุรักษ์ระยะสั้น อุณหภูมิ ๑๕ องศาเซลเซียส เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ ๓-๕ ปี ห้องอนุรักษ์ระยะปานกลาง อุณหภูมิ ๕ องศาเซลเซียส เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ ๒๐ ปี และห้องอนุรักษ์ระยะยาว อุณหภูมิ -๑๐ องศาเซลเซียส สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้นานถึง ๕๐ ปี ดร. สมทรง โชติชื่น นักวิชาการเกษตร ๘ ว ผู้เป็นหลักในการดูแลศูนย์ฯ นำเราเข้าไปชมห้องอนุรักษ์ระยะสั้นอุณหภูมิห้อง ๑๕ องศาเซลเซียสให้ความรู้สึกเย็นยะเยือก ภายในห้องยังปรับให้มีความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน ๖๐ % พื้นที่ห้องกว้างขวาง แต่ติดตั้งชั้นวางซึ่งเป็นโครงเหล็กขนาดใหญ่สูงจรดเพดานเรียงเป็นแถวชิดตลอดแนวผนังสองฝั่ง เหลือไว้เพียงทางเดินกลางห้อง มีขวดโหลแก้วใสบรรจุข้าวเปลือกนานาพันธุ์วางเรียงเต็มแต่ละชั้นแลดูละลานตา ดร. สมทรงอธิบายว่า "ปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวไว้ประมาณ ๒๐,๐๐๐ สายพันธุ์ ในจำนวนนี้เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทยประมาณ ๑๗,๐๐๐ พันธุ์ นอกนั้นเป็นข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์หรือผสมพันธุ์ขึ้นใหม่ รวมทั้งข้าวป่าและสายพันธุ์ข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ" เฉพาะตัวอย่างข้าวพันธุ์พื้นเมืองกว่าหมื่นชนิดแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของพันธุ์ข้าวไทยได้เป็นอย่างดี ข้าวเปลือกแต่ละพันธุ์ที่บรรจุในขวดโหลมีความแตกต่างกันทั้งลักษณะของเมล็ดที่มีทั้งเล็กและใหญ่ บ้างเรียวยาว บ้างสั้นป้อม และสีสันของเปลือกที่มีทั้งสีเหลือง สีน้ำตาลอ่อน หรือสีแดงเข้ม "ข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีลักษณะหลากหลายมาก" ดร. สมทรงกล่าว "เกิดจากพันธุกรรมของแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกัน ประเทศไทยอยู่ในเขตศูนย์กลางการแพร่กระจายของพันธุ์ข้าว แล้วแต่ละภาคของประเทศยังมีความแตกต่างกันทั้งสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ เรามีทั้งพื้นที่เหมาะสำหรับปลูกข้าวไร่ ข้าวนาสวน ข้าวน้ำลึก พันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในแต่ละพื้นที่จึงต้องมีความเฉพาะเจาะจงหรือสามารถปรับตัวได้ดี ดังนั้นความหลากหลายของพันธุ์ข้าวจึงเกิดจากทั้งการคัดเลือกโดยวิวัฒนาการธรรมชาติ และการคัดเลือกของชาวนาตั้งแต่อดีต เพื่อให้มีพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่และความชอบของคนท้องถิ่น" ป้ายกระดาษบนขวดโหลแต่ละใบช่วยให้เราได้รู้จักชื่อข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งหลายชนิดอาจฟังแปลกหูหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น ข้าวเหลืองทอง เหลืองปะทิว เหลืองควายล้า ข้าวเรือนหัก ข้าวยุ้งหัก ข้าวหอมมะลิ หอมนายพล หอมเดือนสาม ข้าวขาวเศรษฐี ขาวบ้านนา ฯลฯ ทว่าในปัจจุบันพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเหล่านี้อาจเหลือเพียงชื่ออยู่ในความทรงจำของชาวนารุ่นเก่า แม้ขณะนี้เรามองเห็นเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองละลานตาภายในห้องที่เย็นยะเยือก แต่โลกภายนอกนั้นผืนนาทั่วประเทศไทยปลูกข้าวอยู่ไม่กี่พันธุ์เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าวปรับปรุงพันธุ์ที่ราชการแนะนำให้ชาวนาปลูก ดร. สมทรงกล่าวว่า "ปัจจุบันนี้ชาวนาทั่วประเทศส่วนใหญ่ปลูกข้าวอยู่ประมาณ ๑๕ พันธุ์ เป็นข้าวปรับปรุงพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง เช่น ชัยนาท ๑, สุพรรณบุรี ๑, ปทุมธานี ๑, พิษณุโลก ๒ ถ้าเป็นข้าวเหนียว เช่น กข ๖ ส่วนข้าวพันธุ์พื้นเมืองหายากแล้ว มีปลูกอยู่บ้างในบางจังหวัด โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวไร่ที่ปลูกบนพื้นที่ภูเขาแถบภาคเหนือ" ดร. สมทรงอธิบายความแตกต่างระหว่างข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวปรับปรุงพันธุ์ว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นข้าวนาปี มีลักษณะไวต่อช่วงแสง นั่นคือจะออกดอกในวันที่กลางคืนยาวกว่ากลางวันเท่านั้น ซึ่งก็คือฤดูหนาว จึงปลูกได้ปีละครั้ง แล้วต้นสูง ใบใหญ่ ล้มง่าย ไม่ตอบสนองต่อปุ๋ย ผลผลิตต่ำแต่คุณภาพดี ส่วนข้าวปรับปรุงพันธุ์เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ปลูกได้ปีละหลายครั้ง ปลูกได้ทั้งนาปรังและนาปี ต้นเตี้ยเพื่อไม่ให้หักล้ม ตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดี ให้ผลผลิตสูง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวในประเทศไทยเริ่มต้นราวปี ๒๕๑๒ โดยนักวิจัยจากกรมการข้าวในสมัยนั้นได้นำข้าวไทยพันธุ์เหลืองทองมาผสมกับข้าวพันธุ์ IR8 ของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีต้นเตี้ยและให้ผลผลิตสูงถึง ๑,๐๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ กระทั่งได้ข้าว กข ๑ เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตสูงพันธุ์แรกของไทย โดย กข ย่อมาจากกรมการข้าวนั่นเอง ข้าวปรับปรุงพันธุ์รุ่นต่อมายังใช้ชื่อข้าว กข เช่น กข ๒, กข ๓, กข ๗ จนถึง กข ๒๗ ภายหลังจึงตั้งชื่อตามสถานีวิจัยที่เป็นผู้พัฒนาพันธุ์ เช่น ข้าวชัยนาท ๑ หรือ สุพรรณบุรี ๑ "สาเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่เรื่อย ๆ เพราะแม้ข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์เดิมมีคุณภาพดี ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคและแมลงอยู่แล้ว แต่พอปลูกไปสัก ๔-๕ ปี เชื้อโรคและแมลงจะสามารถปรับตัวจนสามารถทำลายข้าวพันธุ์นี้ได้" ดร. สมทรงอธิบาย "ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ศูนย์ฯ ของเราอนุรักษ์ไว้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับผสมกับพันธุ์ข้าวไทยเองหรือพันธุ์ข้าวต่างประเทศ เพื่อสร้างข้าวพันธุ์ใหม่ให้มีคุณภาพและผลผลิตที่ดีกว่าเดิม" การปรับปรุงพันธุ์ข้าวอาจนับว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งยุค "ปฏิวัติเขียว" ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการทำนาปลูกข้าว ๒. แนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งของการปฏิวัติเขียว คือเปลี่ยนระบบการทำนาจากปลูกเพื่อกิน เป็นปลูกเพื่อขาย ผู้สรุปประเด็นนี้ให้เราฟังคือ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี "การปฏิวัติเขียวในเอเชียเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ ยึดจากการจัดตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติเป็นหลักกิโลเมตรแรก จนถึงปัจจุบันผ่านมาเกือบ ๕๐ ปีแล้ว" วิฑูรย์กล่าว "การปฏิวัติเขียวโดยการใช้ข้าวพันธุ์ใหม่ ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจริง แต่ก็ไปทำลายระบบการผลิตอาหารแบบเดิม" วิฑูรย์อธิบายต่อว่า "สมัยก่อนชาวนาทำนาปีละครั้ง ที่เรียกว่านาปี ในช่วงน้ำหลากจะมีปลามาหากินในนาข้าว ชาวนาจะจับปลาหลังช่วงน้ำลดหรือช่วงเก็บเกี่ยว ที่เคยมีคำพูดว่า 'ข้าวใหม่ปลามัน' คือข้าวใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวจะหอมนุ่ม แล้วปลาที่จับได้เป็นปลามัน คือปลาที่อยู่ในนาข้าวจนเติบโตเต็มที่ ช่วยสะท้อนภาพสังคมสมัยนั้นได้อย่างดี" ในอดีต เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางไว้กินในครอบครัว ข้าวส่วนที่เหลือกินค่อยนำไปขาย ส่วนอาหารพวกผักปลากบเขียด ก็สามารถหาได้ตามท้องนานั่นเอง เมื่อชาวนาหันมาปลูกข้าวปรับปรุงพันธุ์ การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมากทำให้ปลาและสัตว์ต่าง ๆ ไม่อาจอาศัยในนาข้าวได้อีกต่อไป เท่ากับชาวนาสูญเสียแหล่งอาหารในผืนนาตนเองไปโดยปริยาย "ดังนั้นเจตนาของปฏิวัติเขียวที่บอกว่าต้องการผลิตอาหารก็ไม่จริง เพราะว่าระบบนี้ไม่ผลิตอาหาร แต่ผลิตข้าวเพื่อให้กลายเป็นสินค้า แล้วยังไปทำลายระบบอาหารที่มีอยู่แต่เดิม นั่นคือผักปลาทั้งหลายที่มีอยู่ในนา" วิฑูรย์กล่าว วิฑูรย์เล่าว่าทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มียุ้งฉางของตนเอง ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จะถูกส่งขายทั้งหมดโดยไม่เก็บไว้กิน แล้วค่อยนำเงินรายได้จากการขายข้าวมาใช้จับจ่ายซื้อข้าวสารและอาหารจากตลาดแทน ค่าครองชีพแต่ละครัวเรือนจึงเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น การทำนายังมีต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากค่าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง อีกทั้งค่าจ้างเครื่องจักรกลที่นำเข้ามาใช้แทนแรงงานคนและสัตว์ เช่น รถไถ รถเกี่ยวข้าว ในยุคที่น้ำมันแพงขึ้น รายจ่ายส่วนนี้จึงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ระบบการผลิตที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบที่สำคัญอีกอย่างคือ เมื่อชาวนาส่วนใหญ่หันมาปลูกข้าวปรับปรุงพันธุ์ แม้ให้ผลผลิตสูง แต่การปลูกข้าวพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งอย่างหนาแน่นในพื้นที่กว้าง การทำนาปรังในพื้นที่เดิมปีละหลายครั้ง และการใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก ทำให้เมื่อเกิดโรคและแมลงระบาดจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวสำหรับชาวนา "ลองคิดดูว่าเมื่ออาหารที่หาได้จากในนาลดลง ชาวนามีรายจ่ายค่าอาหารเพิ่มขึ้น ต้นทุนการทำนาก็เพิ่มขึ้น เขาอาจต้องไปกู้เงินมาซื้อปุ๋ย ซื้อยา จ่ายค่าเช่านา หรือเป็นค่าอาหารของตัวเองด้วยซ้ำ แล้วถ้าปีไหนเกิดโรคระบาด น้ำท่วมหรือฝนแล้งจนนาข้าวเสียหายหรือราคาข้าวตกต่ำ หนี้สินจะเพิ่มขึ้นทันที เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่กระบวนการผลิตอย่างนี้เกิดขึ้น ชาวนาก็ตกอยู่ในห่วงโซ่ของหนี้สินที่ไม่มีทางออก ชาวนาแถบภาคกลางเช่นที่ จ. สุพรรณบุรี บางครอบครัวเป็นหนี้ ๔-๕ แสนบาท" ช่วงต้นปี ๒๕๕๑ แม้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม ทว่าล่วงเข้าต้นเดือนมิถุนายนกลับมีเหตุการณ์ชาวนาหลายจังหวัดชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินและราคาข้าวตกต่ำ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาร่วม ๑,๐๐๐ คนจาก ๕ จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แพร่ นครสวรรค์ พะเยา กำแพงเพชร และตาก เคลื่อนขบวนด้วยรถปิกอัป รถอีแต๋น และรถไถขนาดใหญ่ รวม ๑๐๐ คันเข้ากรุงเทพฯ ไปปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานพระราม ๘ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะสะท้อนให้เห็นภาวะหนี้สินของชาวนาไทยได้เป็นอย่างดี กลุ่มเกษตรกรและชาวนาจากจังหวัดต่างๆ เคลื่อนขบวนเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินและราคาพืชผลตกต่ำ ภายในโกดังแห่งหนึ่งที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เช่าจากเอกชนเพื่อเก็บข้าวเปลือกที่ชาวนานำมาจำนำกับรัฐบาล เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าใช้เชือกร้อยเพื่อยึดกระสอบทุกใบก่อนใช้คีมกดตราตะกั่วสัญลักษณ์ อคส. บนใบระบุจำนวนกระสอบข้าวและวันที่ประทับตราเพื่อกันกระสอบข้าวสูญหายหรือถูกขนย้าย รถบรรทุกนำข้าวสารจากโรงสีมาส่งที่โรงงานบริษัทผู้ส่งออก ข้าวสารเหล่านี้จะผ่านกระบวนการผลิตแยกสิ่งสกปรก ขัดสี ก่อนบรรจุถุงหรือกระสอบเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าต่างประเทศ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น