วิถีการทำนาแบบพอเพียงของชาวใต้
การทำนาปลูกข้าว มีมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล แม้ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สมัยกรุงสุโขทัย ก็ยังมีจารึกข้อความว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยสุโขทัยการทำนาได้เป็นอาชีพหลักของคนไทย แล้ว
การทำนาของชาวใต้ในชนบทสวนใหญ่ที่อยู่ในวิถีแบบพอเพียงจะเป็นการทำนาหยาม หรือนาปีอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก นาหยามหรือนาปี จึงเรียกว่า "นาน้ำฝน"
การทำนา หากแบ่งการทำตามฤดูกาลแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. การทำนาปี หรือนาน้ำฝน คือการทำนาที่ต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติตามฤดูกาลเป็นหลัก โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หากปีใดฝนมาเร็วก็จะเริ่มทำนาเร็ว หากปีใดฝนแล้ง ก็จะทำให้ไม่สามารถทำนาได้ หรือทำได้แต่ นาแห้ง หรือ นาม้าน เสียหายไม่ได้ข้าว หรือหากปีใด น้ำมากเกินไป นาล่ม ข้าว ก็จะเสียหาย หรือไม่ได้เก็บเกี่ยว ชะตาชีวิตของชาวนา จึงขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำฝน พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกกับนาปี จะเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความไวต่อช่วงแสง
สภาพข้าวนาปีของคนใต้ ใช้แกะเก็บทีละรวงมาเป็นผูกเป็นรวง
๒. การทำนาปรัง หรือการทำนาครั้งที่สอง หรือนานอกฤดู คือการทำนาที่ไม่ได้อาศัยน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาลเป็นหลัก แต่อาศัยน้ำจากลำห้วย หนอง คลองบึง น้ำใต้ดิน หรือน้ำจากคลองชลประทาน พันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์ข้าวอายุสั้นหรือที่เรียกว่า“พันธุ์ข้าวเตี้ย” ไม่มีความไวต่อแสง กล่าวคือข้าวจะออกดอกติดรวงข้าวและเก็บเกี่ยวได้ตามอายุ ระยะเวลาการเพาะปลูก และอายุการเก็บเกี่ยวจะน้อยกว่าข้าวนาปี การทำนาปรังจะใช้วิธีหว่านน้ำตม เป็นส่วนมาก ชาวนาจึงมักจะเรียกการทำนาปรัง หรือ การทำนานอกฤดูกาล ว่า “นาน้ำตม”(ครู’ฑูรย์)
จากข้อมูลต้นทุนการผลิตข้าวนาปรัง ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๑ โดยเฉลี่ยคิดเป็นเงิน ๑,๙๙๗ - ๒๑๕๗ บาทต่อไร่ ตามลำดับ ผลผลิตเฉลี่ยได้ จำนวน ๖๓๓-๗๒๑ กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นรายได้ ๓,๒๓๗ -๔,๕๖๒ บาทต่อไร่ตามลำดับ เมื่อคิดคำนวณค่าแรงงานของตัวเกษตรกรด้วยแล้ว จะไม่มีกำไรเลย ทำให้เกษตรกรจำนวนมาก พยายามที่จะคิดค้นหาวิธีการทำนาใหม่ๆ ที่จะลดต้นทุนการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนผันแปร เช่น ค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูข้าว และค่าจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยว
สภาพการทำนาปรัง
นอกจากแบ่งตามฤดูกาลแล้ว การทำนา ยังแบ่งออกตามวิธีการเพาะปลูกหลัก ๆ ได้ ๒ วิธี คือ
๑. การทำนาดำ จะทำในพื้นที่ราบลุ่มที่น้ำไม่ท่วมขังในฤดูน้ำหลาก จะเป็นนาน้ำฝน หรือนาในเขตชลประทานก็ได้ พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกจะเป็นพันธุ์ข้าวไวแสง หรือไม่ไวแสงก็ได้ แล้วแต่ฤดูกาล การเพาะปลูกในการทำนาดำจะใช้แรงงานมาก เพราะต้องทำแปลงตกกล้า หรือแปลงเพาะกล้าข้าวก่อนแล้วจึงย้ายต้นกล้าไปปักดำอีกครั้งหนึ่ง ใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกน้อย (ไร่ละ ๑๐ – ๑๒ กก.) และมีปัญหาเรื่องวัชพืชในนาข้าวน้อยกว่าการทำนาหว่าน ปัจจุบันเกษตรกรที่มีปัญหาในการทำนาดำเนื่องจากพื้นที่มาก หรือช่วงฤดูกาลแปรเปลี่ยน นิยมหันมาใช้เครื่องทุ่นแรง หรือดำปักดำต้นกล้า หากเป็นการว่าจ้างรถปักดำ ตกราคาไร่ละ ๑,๐๐๐ – ๑,๒๕๐ บาท
การทำนาดำ
๒. การทำนาหว่าน โดยมากการทำนาหว่านในฤดูนาปี จะทำในนั้นที่ๆเป็นที่ดอน หรือพื้นที่ๆมีน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลากจะพบมากแถบภาคกลาง เช่น บริเวณนั้นที่ราบลุ่มภาคกลางเขตอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว จะหว่านแบบที่เรียกว่า“หว่านแห้งหรือหว่านสำรวย“หรือหากทำเทือกจะเรียกว่า“หว่านเปียก" หรือ "หว่านน้ำตม “
การทำนาหว่าน
ปัจจุบันการทำนาในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานแทบจะไม่มีฤดูและเวลาที่แน่นอน เพราะจะมีการทำนาต่อเนื่อง และหมุนเวียนกันโดยตลอด หากท่านนั่งรถยนต์ผ่านสองข้างทางที่ทำนาจะพบว่าบางแปลงชาวนากำลังเก็บเกี่ยว บางแปลงข้าวอยู่ในระยะแตกกอ ซึ่งการทำนาแบบต่อเนื่องเช่นนี้จะทำให้มีปัญหาเรื่อง โรคและแมลงศัตรูข้าวระบาด เนื่องจากมีแหล่งอาหารบริบูรณ์ ประกอบกับเกษตรกรมักจะฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวโดยไม่จำเป็น จึงเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการระบาดของศัตรูข้าวมากยิ่งขึ้น และมีต้นทุนในการนำนาสูง จนไม่มีกำไร
การทำนาในเขตชลประทาน
ในอดีตวิถีการทำการเกษตรของชาวภาคใต้ จะประกอบอาชีพแบบใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาเช่น การทำสวนแบบพ่อเฒ่า หรือสวนสมรม หรือการปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยเฉพาะ “ชาวนา” จะทำนาโดยอาศัยทุนของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น ไถนาด้วยแรงงานของสัตว์ และคน ใช้ปุ๋ยคอก(ไม้ยา)ปุ๋ยหมัก ใช้ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน (ไข่มด เล็บนก นางพญา หอมจันทร์ นางหมรุย สังหยด ) อยู่อย่างเพียงพอ มีความขยัน ใช้ภูมิปัญญา และเทคโนโลยีพื้นบ้าน ทำทุกอย่างที่ใช้ ปลูกทุกอย่างที่กิน โดยยึดหลัก
“ เงินทองคือมายา ข้าวปลาอาหารสิสำคัญ ” จึงอยู่อย่างมีความสุข ปลอดหนี้
การเก็บข้าว
การทำนาในภาคใต้การเก็บข้าว “ด้วยแกละ” ทีละ “รวง” ผูกเป็น “เรียง” เป็นแล้วนำมาเก็บไว้เป็น "ลอม" บน "เรินข้าว" หรือ"เรือนข้าว" และเมื่อเวลาจะนำไปสี ต้องนำเรียงข้าวมานวดเพื่อให้เมล็ดข้าวเปลือกหลุดร่วงออกจากรวง นำไปตากแดดอีก ๒ แดด เพื่อไล่ความชื้นในเมล็ดข้าว ทำให้สีง่าย และได้เมล็ดข้าวเต็มไม่หัก นับภูมิปัญญาในการทำนาพื้นบ้านของภาคใต้ ที่ในอดีตมีรูปแบบการทำนาที่คล้ายคลึงกันทุกถิ่นที่มีการทำนาแต่ในปัจจุบันมีเหลือให้เห็นน้อย หรือบางท้องถิ่นไม่มีแล้ว เป็นการทำนาใช้เครื่องทุ่นแรง,เครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนและสัตว์กลับกลายเป็นการทำนาแบบจ้างคนอื่นเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบางทีเจ้าของนาเองแทบจะไม่ได้ลงไปดูแลนา ข้าวที่หว่านไว้ จะลงบ้างก็ช่วงที่มีรถมาเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อไปชั่งข้าวเปลือกขาย เป็นการทำนาที่ต้องลงทุนสูงใช้เงินจากการออมหรือการกู้ เป็นการเพิ่มหนี้ และทำให้ขาดทุนได้
การเก็บข้าวด้วยแกละ แกละและเรียงข้าว การนวดของชาวนาภาคใต้
การเก็บข้าวด้วยเคียว และฟัดข้าว เหมือนการทำนาแบบภาคกลางเริ่มเข้ามาในชุมชนชาวนาภาคใต้เป็นเพราะแรงงานภาคเกษตรหายากเนื่องจากหนีเข้าเมืองทำงานโรงงาน
ราวก่อน ปี ๒๕๒๐ มีการนำวัฒนธรรม การเกี่ยวข้าว แล้วฟัดของภาคกลางเข้ามาใช้ ในการทำนาของภาคใต้เนื่องจากมีปัญหาเรื่องแรงงานภาคเกษตรไหลเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมในเมือง ทำให้หาแรงงานยาก และค่าจ้างแพง วิถีการทำนาของชาวภาคใต้เริ่มเปลี่ยนไป และหลังปี ๒๕๒๐ เริ่มมีการนำเครื่องจักรกล รถเก็บเกี่ยวข้าวมาเก็บเกี่ยว แทนแรงงานคนในแถบรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา เนื่องจากได้ข้อมูลว่าในแถนถิ่นนี้มีปัญหาเรื่องแรงงานเก็บเกี่ยงข้าวจากกลุ่มคนที่มาฝึกการใช้เคียวในการเกี่ยวข้าวการเกี่ยวข้าวโดยเครื่องจักรนอกจากทำให้เงินค่าจ้างไหลออกจากพื้นที่นับร้อยล้านบาทต่อปี แล้วยังมีปัญหาต่อชุมชนตามมาอีกหลายด้าน อาทิ สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ วัฒนธรรม
ซึ่งในอดีตการทำนาของชาวใต้หากใครมีที่นามาก หรือเป็นคน "ใช้ได้" มีโหมฺมาก มีเพื่อนมาก ถึงหน้านาจะมีการออกปาก ขอช่วย(วาน) ให้มาดำนา เก็บข้าว เรียกการทำนาแบบนี้ว่า "การทำนาวาน" หรือไป "กินวาน" เพราะเจ้าของนาจะเตรียมข้าว ปลา อาหารไว้เต็มที่บริบูรณ์
การออกปากดำนาวาน การออกปากเก็บข้าว
เครื่องมือเก็บข้าวยุคใหม่ที่แพร่กระจาย นอกจากวิถีการทำนาแบบชุมชนภาคใต้จะค่อยๆหมดไป ผลที่ตามมาชาวนายากจน-เป็นหนี้ วิถีล่มสลาย ดังคำกล่าวของชาวชุมชนที่ว่า "ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้"
ราวปี ๒๕๓๐ การทำนาได้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาอย่างเดียวหันมาขุดนาปรับพื้นที่เป็นการทำ “ไร่ นา สวนผสม” เพื่อความอยู่รอดสู้ปัญหา บางปีนาแล้ง บางปีนาล่ม เนื่องจากการทำนาส่วนใหญ่ เป็น “นาน้ำฝน” ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น มีกินมีใช้ โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ เหลือกินเหลือใช้ นำขาย ทำให้อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนด้วยหนี้สินจากความขยัน
ไร่นาสวนผสมที่มีการขุดนาเพื่อปลูกผักพืชสวนครัว-ผลไม้ที่หลากหลาย เช่น กล้วย มะพร้าว มะม่วงไผ่ ตะไคร้ ดีปลี ฯลฯไ ด้กิน-ขายตลอดปีหากมีการดูแลดีๆ
พันธุ์ข้าว
พันธ์ข้าวที่ใช้ปลูกในภาคใต้ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ และดินฟ้าอากาศ เพราะสมัยก่อนไม่มีชลประทาน มีแต่นำฝนที่หล่นจากฟ้ามาคึงขังอยู่ในนา ซึ่งมีทั้งที่ลุ่มที่ดอน สภาพผืนนามีทั้งดินเหนียว และดินเหนียวปนทราย ด้วยภูมิปัญญาการคัดพันธ์ข้าวที่ใช้ปลูกจึงมีหลากหลายมากกว่า ๑๐๐ สายพันธ์ การปลูกข้าวหลากหลายสายพันธ์ในชุมชน ทางใต้เรียกว่า "ปลูกข้าวหลายตา" ทั้งข้าวไร่ ข้าวนา ข้าว“ สั่งหยุด”(นครศรีฯ)หรือ “สังหยด” (พัทลุง) หรือ "เหนียวแดง"(สงขลา ที่มีหลายชื่อเรียกตามแต่ละถิ่น เป็นหนึ่งในหลายสายพันธุ์ของข้าวพื้นเมืองภาคใต้ ซึ่งกำลังได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นข้าวที่อร่อย รสชาติดี หอม นิ่ม มัน และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง นอกจากนี้ยังมีข้าวพันธุ์เมืองของภาคใต้ที่ชาวนานิยมปลูกไว้เพื่อกิน อาทิเช่น ข้าวเล็บนก ข้าวไข่มด ข้าวนางพญา ข้าวหอมจันทร์ ข้าวนางหมรุย ข้าวดอก(พะ)ยอม ฯลฯ
พันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้
การสีข้าว ด้วย“ครกสีหมุน” เป็นภูมิปัญญาเทคโนโลยีการสีข้าวของชาวนาไทยที่สามารถสีข้าวกินเองได้โดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง แถมยังได้ ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือ “ข้าวกล้อง - ข้าวซ้อมมือ” ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพไว้รับประทานอีกด้วย แกลบ รำ ปลายข้าว ใช้เลี้ยงสัตว์
"ครกสีหมุน" เป็นภูมิปัญญาการทำนาและการสีข้าวเพื่อสุขภาพของชาวใต้
วิถีความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาในภาคใต้ หลังจากการทำนา อาศัยความขยัน ผู้หญิงจะปลูกผักพื้นบ้านไว้กิน ไว้ขายภายในชุมชน ผู้ชายที่ขยันจะขึ้นคาบนำตาลเคี่ยวน้ำผึ้ง ไว้กิน ไว้ใช้ เหลือนำไปขายเป็นรายได้ของครอบครัว หรือเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เพื่อเป็นรายได้ หรือใช้แรงงาน ทั้งยังได้มูลเอาไปใช้เป็นปุ๋ยในการทำนา ปลูกผักสวนครัว บางคนหลังเสร็จฤดูกาลทำนาก็จะลง ’เล หากุ้ง หาปลา
อยู่แบบพอเพียงต้องเลี้ยง "วัวพันธุ์พื้นเมือง"หรือ "วัวบ้าน"
ไร่นาสวนผสม ที่นิยมกันอยู่พักหนึ่ง ปัจจุบันถูกนาปาล์ม นายาง ซึ่งราคาแพงมาแรง แซงโค้งตัดหน้า รูปแบบไร่นาสวนผสม จนสิ่งแวดล้อมวอดวาย
ปัจจุบันยางพารามีราคาแพง ทำให้ชาวนาเริ่มหันมาปลูกยางพาราในนาเป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยวตามกระแสทุนนิยมกันมากขึ้นปรับเปลี่ยนนาข้าวเป็นนายาง พื้นที่การปลูกยางเริ่มรุกพื้นที่นามากขึ้น คล้ายๆพื้นที่ในทุ่งระโนด ในอดีตเมื่อราวๆต้นปี ๒๕๓๐ ที่มีการพลิกนาข้าวเป็นนากุ้งทำให้ผืนนาในการปลูกข้าวหมดไปพร้อมๆกับสิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชนที่ดีและหลายๆพื้นที่นากำลังเปลี่ยนนาข้าว เป็นนาปาล์ม ตามนโยบายของรัฐ ต้องติดตามศึกษาข้อมูลในหลายๆด้าน เช่น ความเหมาะสมกับวิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม ความคุ้มทุน หลายครอบครัวเริ่มละเลยความพอเพียงในการทำมาหากิน และดำรงชีพ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยขึ้น รายจ่ายมากกว่ารายได้ เริ่มมีหนี้สิน ที่ดินติดจำนอง หลายคนหลายครอบครัวกลายเป็นคนจนที่ถูก(หลอก)ให้ขึ้นทะเบียน เป็นคนจนที่ถูกกฏหมายตามบัญชีรายชื่อของทางราชการ
นาปาล์ม-นายาง วิถีกระแสใหม่ของชาวใต้ที่ต้องจับตามองว่ามีความยั่งยืนแค่ไหน ใครอยู่ได้ บริษัท นักการเมือง หรือชาวบ้าน วอนนักวิชาการ่วยที
จากวิถีความเป็นอยู่แบบพอเพียง พอมีพอกิน กลายเป็นคนมีหนี้สิน แทนที่ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดกลายเป็นการดิ้นรนเพื่อหารายได้ใช้หนี้ และผ่อนส่งนายทุน จากวิถีแบบเดิมๆที่อยู่ด้วยปัญญา ถูกมอมเมาจากนักธุกิจและนายทุนด้วยวิธีการต่างๆจนอดใจไม่ไหวต้องวิ่งตามกระแสทุนนิยม บริโภคนิยม จนหมดเนื้อประดาตัว ล้มละลายกันมามาก ผู้คนล้มละลายยังไม่กระไร แต่การหลงกระแส เปลี่ยนวิถีการทำนามาปลูกปาล์ม ปลูกยาง นอกจากเป็นหนี้มากขึ้นแล้ว ยังจะสูญเสียพื้นที่การผลิตคาร์โบไฮเดรทอันเป็นธาตุอารที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ชาติมากกว่านำมัน
This is wonderful website
ตอบลบQassim & QU