วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555


ยุคทองสินค้าเกษตรขาขึ้น ถึงเวลาปฏิวัติเกษตรไทย


เป็นบุญหล่นทับรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้า เต็ม ๆ เมื่อราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดกลับมาทะยานพุ่งสูงอีกครั้งแบบไม่ได้เจตนา พืชเศรษฐกิจสำคัญ อ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปรับราคาขึ้นกันถ้วนหน้า จนกลายเป็นความหวังว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจพ้นจากวิกฤติได้ แต่อีกนัยหนึ่งก็อดห่วงไม่ได้ว่า ปีทองสินค้าเกษตรระลอกนี้ อาจไม่เป็นประโยชน์ให้ประเทศชาติและเกษตรกรซ้ำรอยอดีตเหมือนที่ผ่านมา
เพราะเมื่อ 2 ปีก่อนราคาสินค้าเกษตรเคยปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์มาแล้ว ขณะนั้นราคาส่งออกข้าวหอมมะลิ เคยเพิ่มเป็นตันละ 36,000-38,000 บาท ยางพารา กก.ละ 80-90 บาท เกษตรกรยุคนั้นเริ่มมีรอยยิ้ม สามารถนำเงินไปใช้หนี้ ไปขยายการลงทุนเพาะปลูกสินค้าเกษตรรอบใหม่ได้
แต่ให้หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเศรษฐ กิจโลกฟุบ แรงเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์น้อยลง ราคาสินค้าเกษตรก็พาตกต่ำไปด้วย เกษตรกรที่เคยลงทุนเพาะปลูกมากในช่วงนั้น กลับขายสินค้าไม่ได้ราคาดีดั่งเดิม แถมยังต้องขาดทุนเพิ่มอีก ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงของกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ และรัฐบาลต้องเสียงบประมาณแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรมากสุดเป็นประวัติการณ์
เปรียบเทียบสถานการณ์สินค้าเกษตรตอนนี้กับเมื่อ 2 ปีก่อนไม่แตกต่างกันนัก เพราะราคาสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดยกโขยงขึ้นกันถ้วนหน้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน และความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตกลับลดลง ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรเดือน ม.ค. 53 ว่า เคลื่อนไหวทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง
ราคาสินค้าเกษตรรายการสำคัญ ณ เดือน ม.ค. 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ ม.ค.52 ปาล์มน้ำมันเพิ่มจาก กก.ละ 3.00-3.20 บาท เป็น 4.20-4.40 บาท น้ำยางพาราสด กก.ละ 33-35 บาท เพิ่มเป็น 88-92 บาท หัวมันสำปะหลังสดคละ กก.ละ 1.10-1.40 บาท เพิ่มเป็น 2.00-2.20 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้น 14.5% กก.ละ 5.20-5.50 บาท เพิ่มเป็น 7.50-8.10 บาท ข้าวขาว 100% ตันละ 9,500-9,600 บาท เพิ่มเป็น 10,100-10,500 บาท และอ้อยค่าความหวาน 10   ซีซีเอสต่อตัน ตันละ 830 บาท เพิ่มเป็น 965 บาท
ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย และส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะปัจจุบันรายได้ภาคเกษตรมีสัดส่วนถึง 10% ของจีดีพีประเทศ และมีประชากรถึง 40% ของประเทศ หรือประมาณ 20-40 ล้านคนประกอบอาชีพเกษตรกร ดังนั้นราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นจึงมีผลต่อการเพิ่มของกำลังซื้อภาคประชาชน ลดภาระหนี้ และเป็นแรงหนุนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว


ข่าวจาก นสพ.เดลินิวส์
วันที่ 25 ม.ค. 53

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น