วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555


สุดยอดสมุนไพรจากข้าวก่ำแก้โรคหัวใจ-ยับยั้งมะเร็ง




จากที่คนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำให้ในประเทศมีข้าวหลายสายพันธุ์ ทั้งที่ข้าวใหม่ๆ ที่นักวิชาการได้พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมา และมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองอีกมายมาย ซึ่งหลายสายพันธุ์กำลังจะสูญพันธุ์ไป ทั้งที่ข้าวพื้นเมืองมีคุณค่าทางโภชนาการที่ควรจะอนุรักษ์
อย่างข้าวเหนียวเมล็ดสีแดง หรือที่รู้จักในนาม “ข้าวก่ำ” ที่เคยปลูกมากในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และน่าน ก็เป็นข้าวพื้นเมืองโบราณอีกชนิด ที่คนสมัยก่อนนิยมนำไปทำขนมไทย จำพวกข้าวหลาม ขนมเทียน ซึ่งทีมคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่ามีคุณประโยชน์เชิงโภชนศาสตร์ เกษตร คือ สารต้านอนุมูลอิสระอย่างแอนโทไซยานิน และแกรมมาโอซานอล เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีผลที่ดีต่อสุขภาพ
เดิมคนโบราณเชื่อว่าเป็นข้าวเพื่อพิธีกรรม และการบำบัดรักษาเบื้องต้น ใช้เป็นยารักษาโรคที่น่าเชื่อถือ คือเรื่องการตกเลือดของหญิงคลอดลูก แก้ท้องร่วง ให้นำข้าวก่ำมาทำเป็นข้าวหลามรับประทานจะช่วยให้ทุเลาได้ ขณะที่ภาคใต้ใช้รักษาโรคผิวหนัง โดยเฉพาะโรคหิด จึงนิยมปลูกบริเวณเล็กๆ ซึ่งนอกจากความเชื่อในเรื่องสมุนไพรและคุณค่าทางอาหารของข้าวก่ำแล้ว สีของข้าวก่ำที่ออกแดงม่วงยังเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เป็นการป้องกันโรคและแมลง โดยถือว่าข้าวก่ำเป็นพญาข้าวที่สามารถสังเคราะห์และปล่อยสารที่จะช่วยป้องกันแมลงและโรคให้แก่ข้าวอื่นๆ ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากการนิยมปลูกข้าวก่ำแทรกกับข้าวขาว เป็นต้น




ดร.ดำเนิน กาละดี หัวหน้าหน่วยวิจัยข้าวก่ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ผลงานวิจัยสำคัญที่คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเสนอเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการคือ คุณประโยชน์เชิงโภชนศาสตร์เกษตร คือ ข้าวก่ำมี สารต้านอนุมูลอิสระอย่างแอนโทไซยานิน และแกรมมาโอซานอล ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระมีผลที่ดีต่อสุขภาพ ในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งกระเพาะ ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด

อย่างไรก็ตาม ข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำถือ เป็นแหล่งพันธุกรรมข้าวที่สำคัญชนิดหนึ่ง แต่ปัจจุบันถูกลดความสนใจ มีการเพาะปลูกลดลง และกำลังจะสูญหายไปจากพื้นที่นา ทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  จึงเริ่มรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวก่ำพื้น เมืองของไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ได้ทำงานวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์เกษตรตลอดมา และประสบผลสำเร็จ มีผลงานวิจัยเผยแพร่เป็นองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เกษตรเป็นที่น่าสนใจ
กระทั่งได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้จัดตั้งเป็น “หน่วยวิจัยข้าวก่ำ” หรือชื่อภาษาอังกฤษ “Purple Rice Research Unit” ชื่อย่อ “พีอาร์อาร์ยู" (PRRU) อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งคณะผู้วิจัยได้เพียรพยายามรวบรวมพันธุ์ข้าวก่ำพื้นเมืองได้ถึง 42 พันธุกรรม จากแหล่งปลูกข้าวทั่วประเทศ ซึ่งพันธุ์ข้าวก่ำที่ ได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์เป็นข้าวเหนียวก่ำ ได้แก่ พันธุ์ก่ำดอยสะเก็ด และก่ำอมก๋อย และผลงานการวิจัยในครั้งนี้ได้จัดให้ผู้สนใจชมมาแล้วในงานวันเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ณ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ส่วนในอนาคตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เชื่อว่าจะสามารถผลิตพันธุ์ข้าวเจ้าก่ำ ที่มีคุณภาพทั้งทางด้านโภชนศาสตร์เกษตร และด้านโภชนศาสตร์สุขภาพ จึงมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวก่ำให้สามารถแข่งขันกับตลาดเสรีได้ สนใจสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร.ดำเนิน โทรศัพท์ 0-5394-4045
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 7 มกราคม 2553 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น