วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555


จีนขยายตลาดสินค้าเกษตรไทย


การเกษตร
เมื่อวานนี้ (
26 ก.พ. 52) นายวีระชัย  วีระเมธีกุล  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังไปเยือนจีนเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ตนพร้อมด้วยนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ดร.ชาติชาย พุคยาภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับนายเฉิน เต๋อ หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน เห็นพ้องร่วมกันว่า ความร่วมมือทางด้านสินค้าเกษตรมีความสำคัญ  ซึ่งจีนไม่มีนโยบายที่จะจำกัดการนำเข้าจากไทยแต่อย่างใด   เนื่องจากประชากรของจีนที่มีมากถึง 1.3 พันล้านคนในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค  ดังนั้นจำเป็นต้องนำเข้าซึ่งจีนก็มีนโยบายที่จะเพิ่มปริมาณทั้งการส่งออกและนำเข้าเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันสินค้าเกษตรของไทยหลายชนิดก็มีศักยภาพสูง  และยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคจีนไม่ว่าจะเป็น ข้าว ผลไม้ เป็นต้น  เป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะขยายตลาดสินค้าเกษตรไปยังจีน

นายวีระชัย กล่าวว่า แนวทางการขยายการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรนั้นจีนจะอำนวยความสะดวกทางการค้า การขนส่งสินค้า และการประเมินภาษีทางศุลกากร นอกจากนี้จีนยังสนับสนุนในเรื่องตลาดยางพารา ผลไม้ (ลำใย) และมันสำปะหลังด้วย โดยฝ่ายไทยก็ได้ให้ความมั่นใจถึงความพร้อมในการที่จะป้อนยางพาราเข้าสู่ตลาดจีนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งเชิญชวนให้นักธุรกิจจีนเดินทางมาลงทุนแปรรูปยางในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วย
   
นายวีระชัย  กล่าวอีกว่า  ในการหารือร่วมกับจีน   ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี  ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศ จีนเห็นว่าการปกป้องตลาดภายใน (Protectionism) จะส่งผลกระทบต่อแนวทางการแก้ปัญหาของทุกประเทศใ และจีนพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อแก้ปัญหาในเวทีระหว่างประเทศด้วย  โดยเฉพาะในปีนี้ที่ไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นประธานอาเซียน 

ทั้งนี้จีนเห็นด้วยว่าแต่ละประเทศนั้นมีปัจจัยและทรัพยากรค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ไทยและจีนควรจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเห็นว่ากรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) นั้น   มีความสำคัญโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก GMS เช่น เส้นทางรถไฟสายคุนหมิง  การสร้างและพัฒนาเครือข่ายถนนระหว่างประเทศในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC) ได้แก่ เส้นทางสาย R9 และระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ (North South Economic Corridor: NSEC) ได้แก่ เส้นทาง R3a และ R3b โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยให้สามารถพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น