วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555


สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ 

สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ
เลย จังหวัดที่ดูเหมือนไปเท่าไรก็ไม่ถึงสักที เพราะมัวแต่เลยไปทุกครั้ง จังหวัดนี้ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเมืองที่หนาวที่สุดในประเทศไทย เมืองแห่งหน้าผาภูกระดึงอันลือลั่นที่มีคนมานั่ง นอน ยืน ดูพระอาทิตย์ขึ้นกันมากที่สุด เมืองที่มีงานประเพณีผีตาโขนอันคล้ายคลึงกับวันฮาโลวีนของฝรั่ง และเป็นเมืองที่มีไร่องุ่นผลิตไวน์เป็นแห่งแรกของเมืองไทย เสน่ห์หลายอย่างของเมืองเลยทำให้หลายคนที่ได้มาเยือนยังคงจดจำและ อยากที่จะกลับมาเยือนเมืองเล็ก ๆ ที่น่ารักแห่งนี้อีกครั้ง
ในเสน่ห์หลาย ๆ ประการของเมืองเลย มีอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือ ที่นี่เป็นที่ตั้งของสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ แหล่งศึกษาวิจัยและทดลองปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาว เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าทดลอง เผยแพร่ออกไปให้เกษตรกร มาเป็นระยะเวลายาวนาน บนเนื้อที่ 5,000 ไร่ ของสถานีทดลองเกษตรที่สูงแห่งนี้ โอบล้อมด้วยทิวทัศน์ของภูเขาสูง และห่อคลุมด้วยความหนาวเย็น รอคอยให้นักเดินทางผู้สนใจในเรื่องราวของการเกษตรที่สูงได้ก้าวเข้ามาเยี่ยมชม 
ความเป็นมา 

เนื่องจากในพื้นที่ภาคอีสานนั้นมีจังหวัดเลยเพียงจังหวัดเดียว ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นและมีระดับความสูงเหมาะสมต่อการเกษตรบนที่สูง กรมวิชาการเกษตร จึงมีความคิดที่จะจัดตั้งสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือขึ้นเพื่อทำการทดลองพันธุ์พืชไม้ดอกเมือง หนาวสำหรับส่งเสริมให้แก่เกษตรกรทำการเพาะปลูกในปี พ.ศ. 2529 ได้มีการสำรวจ บริเวณยอดภูครั่ง อำเภอภูเรือ และป่าเสื่อมโทรมบริเวณใกล้เคียง พบว่ามีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร อันเหมาะสมสำหรับทดลองพันธุ์พืชเมืองหนาว มีแหล่งน้ำเพียงพอ และมีพื้นที่กว้างสามารถขยายออกไปได้ถึง 5,000 ไร่ จึงดำเนินการจัดตั้งเป็นสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือขึ้น 
ผลงานของสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือที่ผ่านมา คือ การทดสอบพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาว สำหรับปลูกในพื้นที่สูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้แก่ พันธุ์แอปเปิ้ล พันธุ์ท้อ สำหรับรับประทานสด พันธุ์พลัม จากการทดสอบพบว่าบางพันธุ์สามารถเติบโตได้ดีในสภาพอากาศของที่สูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่บางพันธุ์ก็มีการเติบโตช้า ออกดอกได้เฉพาะช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นและติดผลได้ในบางปี อย่างไรก็ตามยังคงยากลำบากอยู่ในการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ ส่วนการปลูกสตรอเบอรี่และไม้ดอกเมืองหนาวนั้นที่ผ่านมาได้ผลเป็นอย่างดี 
นอกจากนี้ สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือยังได้มีความพยายามที่จะทำการรวบรวมและศึกษาพันธุ์องุ่น สำหรับทำไวน์และองุ่นสำหรับรับประทานสดเพื่อพัฒนาพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรใน จังหวัดเลยทำการปลูกต่อไปอีกด้วย
สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ ตั้งอยู่ที่ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย 

การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง เส้นทางแรก จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านตัวเมืองสระบุรี ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข 203 ผ่านอำเภอหล่มสัก หล่มเก่า เข้าเขตจังหวัดเลยที่อำเภอด่านซ้าย ผ่านอำเภอด่านซ้ายเข้าเขตอำเภอภูเรือ ก่อนถึงอำเภอภูเรือประมาณ 7 กิโลเมตร (บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 57 – 58) เป็น มีแยกสามแยกกกโพธิ์ ให้เลี้ยวขวาจะเห็นป้ายขวามือบอกทางเข้าสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือตรงเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร จะถึงแยก “บ.ปลาบ่า-หินสอ” ให้เลี้ยงขวาไปอีกประมาณ 16 กิโลเมตร สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือตั้งอยู่ด้านขวามือ รวมระยะทางทั้งสิ้น 487 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 – 8 ชั่วโมง 
อีกเส้นทางหนึ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 2 ผ่านจังหวัดนครราชสีมาถึงจังหวัดขอนแก่น แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 201 เข้าเขตจังหวัดเลยที่อำเภอภูกระดึง ผ่านอำเภอวังสะพุง แล้วตัดเข้าอำเภอภูเรือได้เช่นกัน เส้นทางนี้จะอ้อมมากกว่า 
การเดินทางไปสถานีเกษตรที่สูงภูเรือโดยรถประจำทางไม่สะดวกนัก นักท่องเที่ยวต้องนั่งรถไปถึงอำเภอด่านซ้ายหรืออำเภอภูเรือแล้วจึงหารถรับจ้างไปที่สถานีฯ 
จุดท่องเที่ยวภายในสถานีฯปัจจุบันสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือมีพื้นที่ที่เปิดดำเนินการทั้งสิ้น 1,500 ไร่ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินชม ศึกษาแปลงทดลองการเกษตรภายในสถานีฯ ได้ โดยบางจุดสามารถที่จะเดินเท้าได้ แต่บางจุดก็ควรใช้พาหนะ ซึ่งใช้ได้ทั้งรถเก๋ง รถขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือจักรยาน จุดที่ 1 แปลงไม้ดอกเมืองหนาว 
ถือเป็นจุดเด่นของสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือเลยทีเดียว เนื่องจากจุดที่ตั้งของสถานีฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลยนั้นเป็นจุดที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวได้มากมายหลายชนิด เทียบเท่ากับพื้นที่ทางเหนือของประเทศอย่างเชียงใหม่ หรือเชียงราย แต่ที่นี่จะพิเศษกว่าตรงที่หนาวก่อนและหนาวยาวนานกว่าในภาคเหนือ ดังนั้นนักท่องเที่ยวจึงสามารถจะมาเที่ยวชมความงามของไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวที่นี่ ได้ก่อนใคร และระยะเวลาในการบานอวดสีสันของบรรดาไม้ดอกเหล่านี้ก็จะอยู่คงทนไปจนถึงราวเดือน มีนาคมเลยทีเดียว 
แปลงไม้ดอกไม้ประดับที่นี่มีเนื้อที่ถึง 3 ไร่ เริ่มต้นจากแปลงกุหลาบพันธุ์ก้านแข็ง ดอกใหญ่หลากหลายสีสัน ถือเป็นราชินีของไม้ดอกทั้งมวล แปลงเพาะพันธุ์กุหลาบจะตั้งอยู่บนเนินเขา ลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้น ๆ เห็นทิวเขาที่โอบล้อมอยู่โดยรอบ มีทางเดินที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินลัดเลาะเที่ยวชมได้ตลอด 
ส่วนไม้ดอกเมืองหนาวอื่น ๆ ได้แก่ แพนซี่ คาร์เนชั่น ฟอร์เก็ตมีนอท ลิ้นมังกร หน้าแมว พิทูเนีย รวมถึงคะน้าใบหยัก ที่เมื่ออุณหภูมิต่ำถึงระดับความเย็นจัด จะเปลี่ยนเป็นสีขาวทั้งต้น ตัดกับกุหลาบแฟนซีที่เป็นสีม่วงทั้งต้นสวยงามและน่าชมมาก 

จุดที่ 2 ทุ่งซัลเวียและแปลงรวบรวมไม้ผลเมืองหนาว
ซัลเวีย เป็นไม้ดอกเมืองหนาวมีดอกสีแดงเข้มตัดกับใบสีเขียวของมัน มีถิ่นกำเนิดจากประเทศบราซิล ชอบอากาศเย็น ซัลเวียเมื่ออยู่ลำพังเพียงต้นเดียวก็ดูไม่โดดเด่นอะไรนัก แต่ถ้าอยู่รวมกันเป็นทุ่งแล้ว สีแดงเข้มที่ดารดาษเต็มทุ่งของมันจะแต่งแต้มให้พื้นที่ตรงนั้นสว่างไสวขึ้นมาทันที 
ทุ่งซันเวียที่สถานีเกษตรที่สูงภูเรือแห่งนี้ปลูกอยู่บนเนินเขา แทรกแซมอยู่ระหว่างแปลงไม้ผลเมืองหนาวหลากหลายชนิด ทั้งแอปเปิล ท้อ สาลี่ และพลัม ซึ่งเป็นพันธุ์ทดลองปลูกในพื้นที่สูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากนักท่องเที่ยวมาตรงช่วงเวลาที่ไม้ผลเหล่านี้ออกผล ซึ่งตรงกับช่วงราวเดือนมีนาคม-กรกฎาคม ก็สามารถเด็ดชิมได้จากต้นเลยทีเดียว หรือหากเดินทางมาในช่วงหนาว ก็จะได้ชมไม้ผลเหล่านี้ทั้งใบ ผลิดอกเต็มต้น การได้เดินชมดอกท้อ แอปเปิล สาลี่ บานเต็มต้น ตัดกับสีสันอันสดใสของทุ่งซัลเวีย แดง ม่วง ชมพู จึงเป็นบรรยากาศชวนให้เพลิดเพลินใจเป็นอย่างยิ่ง 

จุดที่ 3 แปลงไม้กฤษณา
สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ 
ตั้งอยู่ตำบลปลาบ่า เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านวิชาการในการศึกษาค้นคว้าทดลองไม้ดอกไม้ผล ทั้งของเมืองหนาวและพืชสวนของท้องถิ่นที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศและระบบนิเวศ ได้แก่ ทุ่งซัลเวีย แปลงไม้กฤษณา สวนไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ แปลงสตรอว์เบอร์รี่ โรงเรือนเพาะชำ ไม้กระถาง จากนั้นก็ถ่ายทอดเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยแก่เกตรกรและผู้ที่สนใจต่อไป นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมไม้ผลและไม้เมืองหนาวควรไปช่วงเดือนกันยายน-เมษายน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 042-891199, 042-891398
ข้อมูลจาก thai-tour.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น