วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

“ไม้ล้ม” “ไม้เลี้ยง” “ไม้ป่า” ภาพอนาคตการเกษตรไทยในทศวรรษหน้า

“ไม้ล้ม” “ไม้เลี้ยง” “ไม้ป่า” ภาพอนาคตการเกษตรไทยในทศวรรษหน้า

การเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยตลอดมา อย่างไรก็ตาม บทบาทของภาคเกษตรต่อการพัฒนาประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลง ไปตามกาลเวลา คงเป็นการยากที่จะคาดเดาว่าอนาคตการเกษตรไทยในทศวรรษหน้าจะเป็นไปในทิศทางใด และจะมีสิ่งใดบ้างที่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเข้มแข็งทางการเกษตรอย่างยั่งยืน คงไม่ใช่เกษตรกรเท่านั้นที่เป็นผู้ให้คำตอบ ทว่าการมองภาพอนาคตให้ชัดเจนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อช่วยกันเป็นพลังขับเคลื่อน ให้เกษตรไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างรู้เท่าทัน

           ด้วยเหตุนี้ สถาบันคลังสมองแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย 9 องค์กร ประกอบด้วย ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สำนักงานคณะกรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ภาพอนาคตการเกษตรไทย 2563” เมื่อวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2554 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อนำเสนอภาพอนาคตการเกษตรไทยในระยะยาวให้กับสังคมได้ตระหนักรู้และเตรียมรับมือกับอนาคตในมิติใหม่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการสร้างองค์ความรู้เพื่อวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยต่อไป


           ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ นักวิจัยนโยบาย ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้กล่าวถึงกระบวนการ “การมองอนาคต” (Foresight) ของภาพการเกษตรไทยในทศวรรษหน้าที่ให้ความสำคัญกับความไม่แน่นนอนโดยมีปัจจัย 2 ประการ คือ การเมืองในประเทศ และความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอันเป็นที่มาของภาพอนาคตการเกษตรไทยในปี 2563 โดยเปรียบเทียบกับภาพการเติบโตของต้นไม้ที่เป็นผลจากสภาพแวดล้อม และความสามารถในการปรับตัว ได้แก่ ภาพ “ไม้ล้ม” “ไม้เลี้ยง” และ “ไม้ป่า”

           ภาพ “ไม้ล้ม” ที่รากไม่อาจดูดซับน้ำจากผืนดิน และใบไม่อาจสังเคราะห์แสงทางความรู้ให้ลำต้นเติบใหญ่ ต้องยืนต้นตายท่ามกลางป่าอันเต็มไปด้วยไม้หลายสายพันธุ์ที่ต่างแย่งกันเสียดแทงลำต้นเพื่อเติบโตและแผ่กิ่งก้านทางความคิดปกคลุมไม้ที่อ่อนเอกว่า ซึ่งคุณนงนภัส รุ่งอรุณขจรเดช ชมรมเกษตรกรคลื่นลูกใหม่ จังหวัดนครปฐม และคุณปริศฎาพร รวมทรัพย์ ชมรมเกษตรกรคลื่นลูกใหม่ จังหวัดสระแก้ว ได้ร่วมกันอธิบายนัยยะของไม้ล้มว่า ในทศวรรษหน้าอาจเป็นการเข้าสู่ยุคมืดของการเกษตรไทย โดยเกษตรกรรายย่อยซึ่งทำการเกษตรแบบดั้งเดิมในพื้นที่ขนาดเล็ก ปราศจากเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำให้ถูกผูกขาดโดยกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ กอปรกับไทยยังประสบกับภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง การผลิตของเกษตรกรรายย่อยจึงเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนมากกว่าผลิตเพื่อการค้า เมื่อไม่อาจต่อสู้กับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ได้ เกษตรกรจึงขายที่ดินทำกิน หันหน้าสู่อาชีพที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้แรงงานในภาคเกษตรของไทย ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยและคนต่างด้าว โดยมีปัจจัยเสริมของรัฐที่สนับสนุนแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศคนรุ่นใหม่เองก็ไม่ได้ให้ความสนใจอาชีพเกษตรเนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องลงทุนและลงแรงมาก รวมถึงการขาดเสถียรภาพของรัฐบาล และการกำหนดนโยบายที่เป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือ อาทิ นโยบายพักชำระหนี้ นโยบายแทรกแซงราคา เป็นต้น มากกว่าการสร้างความเข้มแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบการเตือนภัย นอกจากนี้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ การวิจัยด้านการเกษตรส่วนหนึ่งเกษียณอายุ ขาดการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่นักวิจัยรุ่นใหม่ อีกส่วนหนึ่งถูกดึงตัวไปอยู่ภาคเอกชนด้วยแรงจูงใจที่สูงกว่า ทำให้เกิดการขาดแคลนรวมทั้งความพยายามในการปฏิรูประบบวิจัยด้านการเกษตรของรัฐล้มเหลว ส่งผลให้ต้องประสบกับภาวะชะงักงันทางองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ไม่อาจตามทันคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียอย่างจีน เป็นต้น


           สำหรับภาพ “ไม้เลี้ยง” ที่ต้นไม้เติบโตและแตกกิ่งก้านออกยอดใบใหม่อย่างงดงามด้วยการดูแลเอาใจใส่อย่างดีทั้งการให้อาหาร การคอยปกป้องจากดินฟ้าอากาศและโรคภัยที่แปรปรวน แต่ไม้เลี้ยงจะเติบโตอย่างยืนต้นได้ก็ด้วยรากแก้วที่แข็งแรงและมั่นคง ซึ่งในเรื่องนี้คุณอุดม จิรเศวตกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเกษตรและคุณกมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ เลขาธิการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงภาพไม้เลี้ยงว่า ใน 10 ปี ข้างหน้าจะเป็นยุคเกษตรกรยิ้มสู้ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนด้วยนโยบายการเกษตรที่ชัดเจน มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิตมากกว่าเน้นผลระยะสั้นเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เน้นบทบาทจากการสงเคราะห์ ช่วยเหลือเกษตรกรมาเป็นการส่งเสริมเกษตรเชิงบูรณาการอย่างเป็นระบบตั้งแต่การเพราะปลูกจนถึงการจำหน่ายมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร สร้างแรงจูงใจให้ครุ่นใหม่เข้ามาประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและการตลาดมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เรียนสาขาเกษตรของรัฐ ทำให้อาชีพเกษตรกรรมกลายเป็นหนึ่งอาชีพยอดนิยมที่มีความมั่งคงทางรายได้ด้วยรูปแบบอาชีพที่ปรับจากการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมมาเป็นการบริหารจัดการฟาร์ม ยังผลให้พื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่มีศักยภาพเป็นแหล่งรองรับนักท่องเที่ยวและกลายเป็นอุตสาหกรรมเกษตรเชิงสร้างสรรค์ (Creative Agri-Industry)

           ส่วนภาพ “ไม้ป่า” ที่ผลิดอกออกผลตามระบบนิเวศของป่า มีการพึ่งพาและเกื้อกูลกัน ไม้ใหญ่ที่แข็งแรงเติบโตแตกกิ่งก้านของนวัตกรรมเป็นร่มเงาให้กับกล้าไม้ที่อ่อนแอปกคลุมผิวดินที่อุดมไปด้วยองค์ความรู้บนรากฐานที่แข็งแรงและยึดโยงเป็นเครือข่ายเหนียวแน่นใต้ชั้นผิวดิน พร้อมเผชิญกับพายุฝนและภัยที่ท้าทายจากภายนอก ซึ่งเป็นภาพที่สังคมปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้เกิดในทศวรรษหน้า โดยมี รศ.ดร.วัลลภ สันติประชา คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคุณสมปอง อินทร์ทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกันอภิปรายถึงภาพไม้ป่า อีกหนึ่งภาพอนาคตของการเกษตรไทยว่า จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและสภาวะโลกร้อน ทำให้มีการคิดค้นและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาในการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตทางการเกษตร มีการพัฒนาพันธุ์พืชสายพันธุ์ใหม่และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และติดต่อกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย มีการเกษตรครบวงจร หรือเกษตรเครือข่าย มีการจัดตั้งเป็นสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งมีการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรเฉพาะทางจนพัฒนาไปสู่การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรกร ขณะที่การตลาดมีการขยายตัวกว้างขวางมากยิ่งขึ้น


           การฉายภาพอนาคตการเกษตรไทยจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยเหลือให้สังคมได้เตรียมพร้อมรับมือกับทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และความผันผวนของสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนอย่างยากที่จะคาดการณ์ เพื่อสร้างทางรอดให้กับเกษตรกรไทยได้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าด้วยการพึ่งพาตนเองและการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยมีรัฐให้การสนับสนุนด้านนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็ง เมื่อภาคการเกษตรไทยหยัดยืนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ก็จะสามารถเติบโตและแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในตลาดการค้าเสรีได้อย่างทัดเทียมและเท่าทัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น