วิถีเกษตรของชาวน้ำแห่งทะเลสาบอินเล
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ดูเหมือนว่าแปลงเกษตรลอยน้ำจะกลายเป็นที่สนใจของใครหลายคน และก็มีบางชุมชนริมน้ำที่ได้ปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นกันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำนาลอยน้ำริมแม่น้ำท่าจีน ของคุณสุพรรณ เมธสาร เกษตรกรบ้านสามชุก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งได้นำไม้ไผ่ที่มีอยู่ในสวนมาทำแพ และใช้ฝากล่องโฟมใส่ผลไม้เก่ามาเจาะรู สำหรับใส่กระถางปลูก และใช้ดินเลนรวมถึงวัชพืชในน้ำเป็นวัสดุปลูก โดยจากการทดลองก็พบว่าได้ผลผลิตดีทีเดียว อีกทั้งยังไม่ต้องดูแลรักษามากด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมีคุณกิมฮวด ไม้เนื้อทอง และชาวบ้านในชุมชนราชธานีอโศก ริมแม่น้ำมูลที่ได้ทดลองทำแพผักและแปลงปลูกข้าวลอยน้ำ โดยใช้เศษโฟมทำเป็นทุ่น ก่อนใช้สแลน ไม้ไผ่ และผักตบชวามาทำเป็นแปลงปลูก ซึ่งก็ช่วยทำให้ชาวบ้านมีอาหารไว้กินยามน้ำท่วมได้อย่างพอเพียง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแปลงเกษตรลอยน้ำจะฟังดูเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับใครหลายคน แต่หากเราลองมองออกไปนอกประเทศและได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวน้ำ ที่อยู่กับทะเลสาบอย่างชาวอินเล ประเทศพม่า ก็จะพบว่าชาวบ้านที่นั่นมีภูมิปัญญาในการทำแปลงเกษตรลอยน้ำมาเป็นเวลานับร้อยๆปีมาแล้ว
วิธีการทำแปลงลอยน้ำของเขาก็คือ การนำหญ้าไซซึ่งขึ้นหนาแน่นบริเวณชายฝั่งทะเลสาบมาตัดเป็นแพ ให้มีความกว้างขนาด 1 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร จากนั้นจึงนำไม้ไผ่ลำยาวๆมาปักลงไปที่ก้นทะเลสาบเพื่อเป็นเสายึดแพหญ้าไว้ จากนั้นก็จะโกยดินเลนก้นทะเลสาบ รวมถึงพืชและสาหร่ายใต้น้ำขึ้นมาโปะบนแปลงหญ้า โดยจะใช้หญ้าและดินเลนมาโปะซ้อนๆกันขึ้นไปจนแพหญ้ามีความหนาประมาณ 50 เซนติเมตร ก็จะได้แปลงสำหรับเพาะปลูก และได้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกมะเขือเทศที่ใหญ่ที่สุดในพม่าเลยทีเดียว
ทั้งนี้ทั้งนั้น น่าเสียดายที่การผลิตเพื่อขายเป็นจำนวนมากๆ อาจส่งผลทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จนทำให้มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านการทำเกษตรลอยน้ำของชาวอินเล แต่อย่างน้อยวิถีชีวิตของชาวอินเลก็น่าเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศซึ่งแวดล้อมไปด้วยน้ำได้อย่างดี และน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย หากเรารู้จักเลือกรับปรับใช้ประสบการณ์ความรู้เหล่านี้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต รวมถึงทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ในประเทศของเรา
ที่สำคัญสภาพปัญหาจากการทำแปลงเกษตรลอยน้ำของชาวอินเล ยังเป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนให้เราเห็นว่า การคิดทำแปลงเกษตรลอยน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการทางอาหาร หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนหรือชุมชนเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ทว่าเราควรตระหนักถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะคนกับธรรมชาติต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และก็ต้องมีความสัมพันธ์ พึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกันอยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ หรือสถานการณ์บนโลกนี้จะแปรปรวนไปมากเท่าใดก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น