วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555


‘ข้าวพื้นเมืองไทย’ ป้องกันโรค/ลดหุ่น ง่ายๆของคุณ






ข้าวพื้นเมืองไทย ป้องกันโรค
คนไทยเรากินข้าวทั้งข้าวเหนียว ข้าวเจ้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้วครับ จะเห็นได้ว่าในบ้านเรามีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองนานาชนิด เจริญเติบโตขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ สิ่งแวดล้อม อากาศและอุณหภูมิที่เหมาะสม และคงจะกินกันไปเรื่อยๆ ครับ เพราะเป็นอาหารหลักของคนไทย แต่แปลกครับ คนไทยเรากินข้าวนั้นกินแบบให้อิ่ม กินให้อยู่ท้อง ไม่ค่อยสนใจหรอกครับว่าการกินข้าวร่างกายจะได้อะไรบ้าง เพราะดูเหมือนว่านักวิจัยเองก็ไม่สนใจอะไรมากมายเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองของไทย ทั้งที่เรากินข้าวมาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว แถมคนรุ่นหลังไม่กล้ากินข้าวเยอะเพราะกลัวอ้วน เพราะว่ามีคาร์โบไฮเดรตสูง บางคนจึงไปกินอย่างอื่นแทน เพิ่งมีมานี้ครับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพิ่งอยากทราบว่าในตัวของ ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ต่างๆ" มีแหล่งแร่ธาตุทั้งปริมาณธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง วิตามินอี มีมากน้อยขนาดไหน มีประโยชน์อะไร จึงให้ทุนสนับสนุนการวิจัย แก่ ผศ.ดร.รัชนี คงคาฉุย และคณะจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จ.นครปฐม ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง ปริมาณธาตุเหล็ก สังกะสี และธาตุทองแดง วิตามินอี เบต้าแคโรทีนและลูทีนในข้าวพันธุ์พื้นเมืองจากแหล่งต่างๆ ของประเทศไทย ขึ้นมา คณะวิจัยชุดนี้จึงศึกษาวิจัยข้าวกล้องพันธุ์พื้นเมืองสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่มีสีและไม่มีสีใน 26 จังหวัด ตั้งแต่ ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ พิจิตร สระแก้ว มุกดาหาร ตราด พิษณุโลก เชียงราย อุทัยธานี พัทลุง แม่ฮ่องสอน น่าน กาญจนบุรี หนองบัวลำภู ขอนแก่น สุรินทร์ นราธิวาส สตูล บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ลำปาง เชียงใหม่ อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา และกาฬสินธุ์ ด้วยการนำข้าวพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้มาบดให้ละเอียดแล้วเก็บไว้ในขวดพลาสติกที่ผ่านการแช่กรด ต่อจากนั้นนำไปวิเคราะห์หาปริมาณความชื้นด้วยการอบที่อุณหภูมิมากกว่า 100 องศาเซลเซียส ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทยมีค่าความชื้นเฉลี่ยร้อยละ9.15 - 11.07 มีคุณค่าทางโภชนาการมากมายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม รวมพันธุกรรมของพันธุ์ข้าว เช่น ข้าวกล้องก่องสีดำจากมุกดาหาร มีวิตามินอีสูงสุด คือ1793.14 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม นอกจากนี้ยังพบธาตุเหล็กเช่นกัน แต่มีปริมาณต่ำ เช่น ข้าวมันปูจากขอนแก่น มีปริมาณธาตุเหล็ก 6.90 มิลลิกรัม ต่อข้าวดิบ 1 กิโลกรัม ส่วนธาตุสังกะสีมีความสำคัญต่อร่างกาย มีผลต่อความเจริญเติบโตและภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อ เด็กที่ขาดธาตุสังกะสีจะทำให้ร่างกายเตี้ยแคระแกรน ภูมิคุ้มกันต่างๆ ของร่างกายบกพร่อง ข้าวที่ธาตุสังกะสีมากที่สุดคือข้าวเหนียวดำหอมจากพัทลุงครับ มีธาตุสังกะสี 35.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมข้าวดิบ ส่วนธาตุทองแดง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเอนไซม์หลายชนิดในการสร้างพลังงานและสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ พบว่าข้าวเกาเหลียงจากพัทลุง ข้าวม้ามุมจากมุกดาหาร และข้าวมะลิเลื้อยจากสระแก้วมีปริมาณธาตุทองแดง 1.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมข้าวดิบ ตรงนี้จะเห็นได้ว่าข้าวพื้นเมืองไทยล้วนแต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แถมยังสามารถยับยั้งและป้องกันโรคได้หลายอย่างทีเดียว






ข้าวไทยในวิกฤตอาหารโลก


 


ชาวนากำลังใช้รถเกี่ยวข้าว ทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร เช่น รถไถ รถเกี่ยวข้าว ทำนาแทนแรงงานคนและสัตว์

บางคนบอกว่าเมืองไทยคืออาณาจักรข้าว คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเมื่อพิจารณาจากการที่คนไทยรู้จักทำนาปลูกข้าวกินมาแต่โบราณ ปัจจุบันข้าวเป็นอาหารหลักที่เรากินแทบทุกมื้อ ชาวนาถูกเปรียบให้เป็นกระดูกสันหลังของชาติไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ ๖๐ ล้านไร่ เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสารมากที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายปี เมื่อปี ๒๕๕๐ มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยสูงถึง ๑๒๓,๗๐๐ ล้านบาท ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตอาหารทั่วโลกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อาหารต่าง ๆ รวมทั้งข้าวมีราคาแพงขึ้น จึงส่งผลสะเทือนต่อประเทศไทยและคนไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
วิกฤตอาหารครั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับวิกฤตพลังงานของโลก เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรหลายประเทศจึงหันมาปลูกพืชพลังงานทดแทน ผลผลิตพืชอาหารจึงลดลง ธัญพืชที่เป็นอาหารสำคัญของชาวโลก เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด รวมทั้งข้าว มีราคาแพงขึ้นและเริ่มขาดแคลน หลายประเทศเกิดปัญหาวิกฤตอาหารจนถึงขั้นจลาจล
ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ข้าวมีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริโภคข้าวมีมากขึ้นตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สต็อกข้าวทั่วโลกกลับลดลงต่อเนื่อง จากปริมาณสูงสุด ๑๔๐ ล้านตันข้าวสารเมื่อปี ๒๕๔๔ ลดลงเหลือประมาณ ๖๐ ล้านตันเมื่อปี ๒๕๕๐ ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ของโลก มีปริมาณสต็อกข้าวลดลงจาก ๙๗ ล้านตันเมื่อปี ๒๕๔๔ เหลือไม่ถึง ๓๐ ล้านตันในปี ๒๕๕๐
รวมทั้งปัจจัยสำคัญจากสภาวะโลกร้อน หลายประเทศต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างรุนแรง ภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องทำให้ผลผลิตข้าวสาลีเสียหาย เมื่อปีที่แล้วประเทศจีนเกิดน้ำท่วมใหญ่และหิมะปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ขณะที่ประเทศอินเดียก็ประสบปัญหาความแห้งแล้งยาวนาน ส่วนเวียดนามต้องเผชิญกับฤดูหนาวที่ยาวนาน รวมทั้งเกิดการระบาดของโรคข้าวและแมลง
เมื่อทั้งจีน อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งต่างเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลกพากันชะลอและหยุดส่งออกข้าวในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อต้นปี ๒๕๕๑ เพื่อเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวสำรองภายในประเทศ ปริมาณข้าวในตลาดโลกจึงลดลงอย่างมาก สวนทางกับราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
เฉพาะในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ ข้าวหอมมะลิมีราคาเฉลี่ยเกวียนละ ๘,๓๘๘ บาท แต่ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๑ ราคาพุ่งขึ้นถึงเกวียนละเกือบ ๑๓,๐๐๐ บาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๖๔ ในเวลาเพียงปีเดียว นับเป็นปรากฏการณ์อันน่าตกตะลึงที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชาวนา ผู้ประกอบการโรงสี นักธุรกิจพ่อค้าข้าว จนถึงชาวบ้านผู้บริโภค
ห้วงเวลานั้น เรื่องของข้าวกลายเป็นหัวข้อข่าวที่ทุกคนให้ความสนใจ ขณะที่คนทั่วไปเริ่มตื่นตระหนกที่จู่ ๆ ข้าวสารก็มีราคาแพงขึ้นอย่างลิบลิ่ว ทั้งยังขาดแคลนจนหาซื้อยาก แต่ต่อมากลับเกิดเหตุการณ์ชาวนาหลายจังหวัดรวมตัวกันปิดถนน บางส่วนถึงกับเคลื่อนขบวนเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินและราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ชวนให้งุนงงสงสัยว่าใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ข้าวราคาแพงครั้งนี้
นิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๔๑ เคยนำเสนอสารคดีพิเศษเรื่อง "ข้าวไทย รสชาติ เมล็ดพันธุ์ และการเดินทาง" มาบัดนี้เมื่อเวลาผ่านไป ๑๐ ปี สถานการณ์ในประเทศและนอกประเทศมีความเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเกิดวิกฤตด้านอาหารและพลังงาน เราจึงตัดสินใจออกติดตามการเดินทางของข้าวไทยอีกครั้งหนึ่ง นับแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ ไปสู่ผืนนา เข้าสู่โรงสี และผ่านบริษัทส่งออกสู่ตลาดโลก เพื่อค้นหาว่าแต่ละช่วงตอนมีปัญหาและอุปสรรคอะไรซุกซ่อนอยู่ และข้าวไทยจะมีแนวโน้มไปทางใดท่ามกลางโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความผันผวน


เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บรักษาไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปทดสอบการงอก และนำไปปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์


ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ จ.ปทุมธานี เก็บรักษาตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ ๒๐,๐๐๐ สายพันธุ์


หลายชนเผ่าทางภาคเหนือยังปลูกข้าวไร่ โดยใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

                       ๑. เราเดินทางมาที่ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ อ. ธัญบุรี จ. ปทุมธานี เพราะศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ข้าวจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย
ภายในอาคารชั้นเดียวพื้นที่ ๑,๒๘๕ ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องอนุรักษ์ระยะสั้น อุณหภูมิ ๑๕ องศาเซลเซียส เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ ๓-๕ ปี ห้องอนุรักษ์ระยะปานกลาง อุณหภูมิ ๕ องศาเซลเซียส เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ ๒๐ ปี และห้องอนุรักษ์ระยะยาว อุณหภูมิ -๑๐ องศาเซลเซียส สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้นานถึง ๕๐ ปี
ดร. สมทรง โชติชื่น นักวิชาการเกษตร ๘ ว ผู้เป็นหลักในการดูแลศูนย์ฯ นำเราเข้าไปชมห้องอนุรักษ์ระยะสั้นอุณหภูมิห้อง ๑๕ องศาเซลเซียสให้ความรู้สึกเย็นยะเยือก ภายในห้องยังปรับให้มีความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน ๖๐ %
พื้นที่ห้องกว้างขวาง แต่ติดตั้งชั้นวางซึ่งเป็นโครงเหล็กขนาดใหญ่สูงจรดเพดานเรียงเป็นแถวชิดตลอดแนวผนังสองฝั่ง เหลือไว้เพียงทางเดินกลางห้อง มีขวดโหลแก้วใสบรรจุข้าวเปลือกนานาพันธุ์วางเรียงเต็มแต่ละชั้นแลดูละลานตา
ดร. สมทรงอธิบายว่า "ปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวไว้ประมาณ ๒๐,๐๐๐ สายพันธุ์ ในจำนวนนี้เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทยประมาณ ๑๗,๐๐๐ พันธุ์ นอกนั้นเป็นข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์หรือผสมพันธุ์ขึ้นใหม่ รวมทั้งข้าวป่าและสายพันธุ์ข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ"
เฉพาะตัวอย่างข้าวพันธุ์พื้นเมืองกว่าหมื่นชนิดแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของพันธุ์ข้าวไทยได้เป็นอย่างดี ข้าวเปลือกแต่ละพันธุ์ที่บรรจุในขวดโหลมีความแตกต่างกันทั้งลักษณะของเมล็ดที่มีทั้งเล็กและใหญ่ บ้างเรียวยาว บ้างสั้นป้อม และสีสันของเปลือกที่มีทั้งสีเหลือง สีน้ำตาลอ่อน หรือสีแดงเข้ม
"ข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีลักษณะหลากหลายมาก" ดร. สมทรงกล่าว "เกิดจากพันธุกรรมของแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกัน ประเทศไทยอยู่ในเขตศูนย์กลางการแพร่กระจายของพันธุ์ข้าว แล้วแต่ละภาคของประเทศยังมีความแตกต่างกันทั้งสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ เรามีทั้งพื้นที่เหมาะสำหรับปลูกข้าวไร่ ข้าวนาสวน ข้าวน้ำลึก พันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในแต่ละพื้นที่จึงต้องมีความเฉพาะเจาะจงหรือสามารถปรับตัวได้ดี ดังนั้นความหลากหลายของพันธุ์ข้าวจึงเกิดจากทั้งการคัดเลือกโดยวิวัฒนาการธรรมชาติ และการคัดเลือกของชาวนาตั้งแต่อดีต เพื่อให้มีพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่และความชอบของคนท้องถิ่น"
ป้ายกระดาษบนขวดโหลแต่ละใบช่วยให้เราได้รู้จักชื่อข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งหลายชนิดอาจฟังแปลกหูหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น ข้าวเหลืองทอง เหลืองปะทิว เหลืองควายล้า ข้าวเรือนหัก ข้าวยุ้งหัก ข้าวหอมมะลิ หอมนายพล หอมเดือนสาม ข้าวขาวเศรษฐี ขาวบ้านนา ฯลฯ
ทว่าในปัจจุบันพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเหล่านี้อาจเหลือเพียงชื่ออยู่ในความทรงจำของชาวนารุ่นเก่า แม้ขณะนี้เรามองเห็นเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองละลานตาภายในห้องที่เย็นยะเยือก แต่โลกภายนอกนั้นผืนนาทั่วประเทศไทยปลูกข้าวอยู่ไม่กี่พันธุ์เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าวปรับปรุงพันธุ์ที่ราชการแนะนำให้ชาวนาปลูก
ดร. สมทรงกล่าวว่า "ปัจจุบันนี้ชาวนาทั่วประเทศส่วนใหญ่ปลูกข้าวอยู่ประมาณ ๑๕ พันธุ์ เป็นข้าวปรับปรุงพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง เช่น ชัยนาท ๑, สุพรรณบุรี ๑, ปทุมธานี ๑, พิษณุโลก ๒ ถ้าเป็นข้าวเหนียว เช่น กข ๖ ส่วนข้าวพันธุ์พื้นเมืองหายากแล้ว มีปลูกอยู่บ้างในบางจังหวัด โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวไร่ที่ปลูกบนพื้นที่ภูเขาแถบภาคเหนือ"
ดร. สมทรงอธิบายความแตกต่างระหว่างข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวปรับปรุงพันธุ์ว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นข้าวนาปี มีลักษณะไวต่อช่วงแสง นั่นคือจะออกดอกในวันที่กลางคืนยาวกว่ากลางวันเท่านั้น ซึ่งก็คือฤดูหนาว จึงปลูกได้ปีละครั้ง แล้วต้นสูง ใบใหญ่ ล้มง่าย ไม่ตอบสนองต่อปุ๋ย ผลผลิตต่ำแต่คุณภาพดี
ส่วนข้าวปรับปรุงพันธุ์เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ปลูกได้ปีละหลายครั้ง ปลูกได้ทั้งนาปรังและนาปี ต้นเตี้ยเพื่อไม่ให้หักล้ม ตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดี ให้ผลผลิตสูง
การปรับปรุงพันธุ์ข้าวในประเทศไทยเริ่มต้นราวปี ๒๕๑๒ โดยนักวิจัยจากกรมการข้าวในสมัยนั้นได้นำข้าวไทยพันธุ์เหลืองทองมาผสมกับข้าวพันธุ์ IR8 ของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีต้นเตี้ยและให้ผลผลิตสูงถึง ๑,๐๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ กระทั่งได้ข้าว กข ๑ เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตสูงพันธุ์แรกของไทย โดย กข ย่อมาจากกรมการข้าวนั่นเอง
ข้าวปรับปรุงพันธุ์รุ่นต่อมายังใช้ชื่อข้าว กข เช่น กข ๒, กข ๓, กข ๗ จนถึง กข ๒๗ ภายหลังจึงตั้งชื่อตามสถานีวิจัยที่เป็นผู้พัฒนาพันธุ์ เช่น ข้าวชัยนาท ๑ หรือ สุพรรณบุรี ๑
"สาเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่เรื่อย ๆ เพราะแม้ข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์เดิมมีคุณภาพดี ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคและแมลงอยู่แล้ว แต่พอปลูกไปสัก ๔-๕ ปี เชื้อโรคและแมลงจะสามารถปรับตัวจนสามารถทำลายข้าวพันธุ์นี้ได้" ดร. สมทรงอธิบาย
"ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ศูนย์ฯ ของเราอนุรักษ์ไว้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับผสมกับพันธุ์ข้าวไทยเองหรือพันธุ์ข้าวต่างประเทศ เพื่อสร้างข้าวพันธุ์ใหม่ให้มีคุณภาพและผลผลิตที่ดีกว่าเดิม"
การปรับปรุงพันธุ์ข้าวอาจนับว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งยุค "ปฏิวัติเขียว" ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการทำนาปลูกข้าว
                  ๒. แนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งของการปฏิวัติเขียว คือเปลี่ยนระบบการทำนาจากปลูกเพื่อกิน เป็นปลูกเพื่อขาย ผู้สรุปประเด็นนี้ให้เราฟังคือ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี
"การปฏิวัติเขียวในเอเชียเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ ยึดจากการจัดตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติเป็นหลักกิโลเมตรแรก จนถึงปัจจุบันผ่านมาเกือบ ๕๐ ปีแล้ว" วิฑูรย์กล่าว
"การปฏิวัติเขียวโดยการใช้ข้าวพันธุ์ใหม่ ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจริง แต่ก็ไปทำลายระบบการผลิตอาหารแบบเดิม"
วิฑูรย์อธิบายต่อว่า "สมัยก่อนชาวนาทำนาปีละครั้ง ที่เรียกว่านาปี ในช่วงน้ำหลากจะมีปลามาหากินในนาข้าว ชาวนาจะจับปลาหลังช่วงน้ำลดหรือช่วงเก็บเกี่ยว ที่เคยมีคำพูดว่า 'ข้าวใหม่ปลามัน' คือข้าวใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวจะหอมนุ่ม แล้วปลาที่จับได้เป็นปลามัน คือปลาที่อยู่ในนาข้าวจนเติบโตเต็มที่ ช่วยสะท้อนภาพสังคมสมัยนั้นได้อย่างดี"
ในอดีต เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางไว้กินในครอบครัว ข้าวส่วนที่เหลือกินค่อยนำไปขาย ส่วนอาหารพวกผักปลากบเขียด ก็สามารถหาได้ตามท้องนานั่นเอง
เมื่อชาวนาหันมาปลูกข้าวปรับปรุงพันธุ์ การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมากทำให้ปลาและสัตว์ต่าง ๆ ไม่อาจอาศัยในนาข้าวได้อีกต่อไป เท่ากับชาวนาสูญเสียแหล่งอาหารในผืนนาตนเองไปโดยปริยาย
"ดังนั้นเจตนาของปฏิวัติเขียวที่บอกว่าต้องการผลิตอาหารก็ไม่จริง เพราะว่าระบบนี้ไม่ผลิตอาหาร แต่ผลิตข้าวเพื่อให้กลายเป็นสินค้า แล้วยังไปทำลายระบบอาหารที่มีอยู่แต่เดิม นั่นคือผักปลาทั้งหลายที่มีอยู่ในนา" วิฑูรย์กล่าว
วิฑูรย์เล่าว่าทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มียุ้งฉางของตนเอง ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จะถูกส่งขายทั้งหมดโดยไม่เก็บไว้กิน แล้วค่อยนำเงินรายได้จากการขายข้าวมาใช้จับจ่ายซื้อข้าวสารและอาหารจากตลาดแทน ค่าครองชีพแต่ละครัวเรือนจึงเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนั้น การทำนายังมีต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากค่าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง อีกทั้งค่าจ้างเครื่องจักรกลที่นำเข้ามาใช้แทนแรงงานคนและสัตว์ เช่น รถไถ รถเกี่ยวข้าว ในยุคที่น้ำมันแพงขึ้น รายจ่ายส่วนนี้จึงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ระบบการผลิตที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบที่สำคัญอีกอย่างคือ เมื่อชาวนาส่วนใหญ่หันมาปลูกข้าวปรับปรุงพันธุ์ แม้ให้ผลผลิตสูง แต่การปลูกข้าวพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งอย่างหนาแน่นในพื้นที่กว้าง การทำนาปรังในพื้นที่เดิมปีละหลายครั้ง และการใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก ทำให้เมื่อเกิดโรคและแมลงระบาดจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวสำหรับชาวนา
"ลองคิดดูว่าเมื่ออาหารที่หาได้จากในนาลดลง ชาวนามีรายจ่ายค่าอาหารเพิ่มขึ้น ต้นทุนการทำนาก็เพิ่มขึ้น เขาอาจต้องไปกู้เงินมาซื้อปุ๋ย ซื้อยา จ่ายค่าเช่านา หรือเป็นค่าอาหารของตัวเองด้วยซ้ำ แล้วถ้าปีไหนเกิดโรคระบาด น้ำท่วมหรือฝนแล้งจนนาข้าวเสียหายหรือราคาข้าวตกต่ำ หนี้สินจะเพิ่มขึ้นทันที เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่กระบวนการผลิตอย่างนี้เกิดขึ้น ชาวนาก็ตกอยู่ในห่วงโซ่ของหนี้สินที่ไม่มีทางออก ชาวนาแถบภาคกลางเช่นที่ จ. สุพรรณบุรี บางครอบครัวเป็นหนี้ ๔-๕ แสนบาท"
ช่วงต้นปี ๒๕๕๑ แม้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม ทว่าล่วงเข้าต้นเดือนมิถุนายนกลับมีเหตุการณ์ชาวนาหลายจังหวัดชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินและราคาข้าวตกต่ำ
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาร่วม ๑,๐๐๐ คนจาก ๕ จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แพร่ นครสวรรค์ พะเยา กำแพงเพชร และตาก เคลื่อนขบวนด้วยรถปิกอัป รถอีแต๋น และรถไถขนาดใหญ่ รวม ๑๐๐ คันเข้ากรุงเทพฯ ไปปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานพระราม ๘ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา
เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะสะท้อนให้เห็นภาวะหนี้สินของชาวนาไทยได้เป็นอย่างดี


กลุ่มเกษตรกรและชาวนาจากจังหวัดต่างๆ เคลื่อนขบวนเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินและราคาพืชผลตกต่ำ


ภายในโกดังแห่งหนึ่งที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เช่าจากเอกชนเพื่อเก็บข้าวเปลือกที่ชาวนานำมาจำนำกับรัฐบาล เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าใช้เชือกร้อยเพื่อยึดกระสอบทุกใบก่อนใช้คีมกดตราตะกั่วสัญลักษณ์ อคส. บนใบระบุจำนวนกระสอบข้าวและวันที่ประทับตราเพื่อกันกระสอบข้าวสูญหายหรือถูกขนย้าย


รถบรรทุกนำข้าวสารจากโรงสีมาส่งที่โรงงานบริษัทผู้ส่งออก ข้าวสารเหล่านี้จะผ่านกระบวนการผลิตแยกสิ่งสกปรก ขัดสี ก่อนบรรจุถุงหรือกระสอบเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าต่างประเทศ

วิถีการทำนาแบบพอเพียงของชาวใต้ 
การทำนาปลูกข้าว มีมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล แม้ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สมัยกรุงสุโขทัย ก็ยังมีจารึกข้อความว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยสุโขทัยการทำนาได้เป็นอาชีพหลักของคนไทย แล้ว
การทำนาของชาวใต้ในชนบทสวนใหญ่ที่อยู่ในวิถีแบบพอเพียงจะเป็นการทำนาหยาม หรือนาปีอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก นาหยามหรือนาปี จึงเรียกว่า "นาน้ำฝน"

การทำนา หากแบ่งการทำตามฤดูกาลแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
การทำนาปี หรือนาน้ำฝน คือการทำนาที่ต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติตามฤดูกาลเป็นหลัก โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หากปีใดฝนมาเร็วก็จะเริ่มทำนาเร็ว หากปีใดฝนแล้ง ก็จะทำให้ไม่สามารถทำนาได้ หรือทำได้แต่ นาแห้ง หรือ นาม้าน เสียหายไม่ได้ข้าว หรือหากปีใด น้ำมากเกินไป นาล่ม ข้าว ก็จะเสียหาย หรือไม่ได้เก็บเกี่ยว ชะตาชีวิตของชาวนา จึงขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำฝน พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกกับนาปี จะเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความไวต่อช่วงแสง

สภาพข้าวนาปีของคนใต้ ใช้แกะเก็บทีละรวงมาเป็นผูกเป็นรวง

๒. การทำนาปรัง หรือการทำนาครั้งที่สอง หรือนานอกฤดู คือการทำนาที่ไม่ได้อาศัยน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาลเป็นหลัก แต่อาศัยน้ำจากลำห้วย หนอง คลองบึง น้ำใต้ดิน หรือน้ำจากคลองชลประทาน พันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์ข้าวอายุสั้นหรือที่เรียกว่า“พันธุ์ข้าวเตี้ย ไม่มีความไวต่อแสง กล่าวคือข้าวจะออกดอกติดรวงข้าวและเก็บเกี่ยวได้ตามอายุ ระยะเวลาการเพาะปลูก และอายุการเก็บเกี่ยวจะน้อยกว่าข้าวนาปี การทำนาปรังจะใช้วิธีหว่านน้ำตม เป็นส่วนมาก ชาวนาจึงมักจะเรียกการทำนาปรัง หรือ การทำนานอกฤดูกาล ว่า “นาน้ำตม”(ครู’ฑูรย์)
     จากข้อมูลต้นทุนการผลิตข้าวนาปรัง ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๑ โดยเฉลี่ยคิดเป็นเงิน ๑,๙๙๗ - ๒๑๕๗ บาทต่อไร่ ตามลำดับ ผลผลิตเฉลี่ยได้ จำนวน ๖๓๓-๗๒๑ กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นรายได้ ๓,๒๓๗ -๔,๕๖๒ บาทต่อไร่ตามลำดับ เมื่อคิดคำนวณค่าแรงงานของตัวเกษตรกรด้วยแล้ว จะไม่มีกำไรเลย ทำให้เกษตรกรจำนวนมาก พยายามที่จะคิดค้นหาวิธีการทำนาใหม่ๆ ที่จะลดต้นทุนการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนผันแปร เช่น ค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูข้าว และค่าจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยว

 
สภาพการทำนาปรัง

       นอกจากแบ่งตามฤดูกาลแล้ว การทำนา ยังแบ่งออกตามวิธีการเพาะปลูกหลัก ๆ ได้ ๒ วิธี คือ
การทำนาดำ จะทำในพื้นที่ราบลุ่มที่น้ำไม่ท่วมขังในฤดูน้ำหลาก จะเป็นนาน้ำฝน หรือนาในเขตชลประทานก็ได้ พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกจะเป็นพันธุ์ข้าวไวแสง หรือไม่ไวแสงก็ได้ แล้วแต่ฤดูกาล การเพาะปลูกในการทำนาดำจะใช้แรงงานมาก เพราะต้องทำแปลงตกกล้า หรือแปลงเพาะกล้าข้าวก่อนแล้วจึงย้ายต้นกล้าไปปักดำอีกครั้งหนึ่ง ใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกน้อย (ไร่ละ ๑๐ – ๑๒ กก.) และมีปัญหาเรื่องวัชพืชในนาข้าวน้อยกว่าการทำนาหว่าน ปัจจุบันเกษตรกรที่มีปัญหาในการทำนาดำเนื่องจากพื้นที่มาก หรือช่วงฤดูกาลแปรเปลี่ยน นิยมหันมาใช้เครื่องทุ่นแรง หรือดำปักดำต้นกล้า หากเป็นการว่าจ้างรถปักดำ ตกราคาไร่ละ ๑,๐๐๐ – ๑,๒๕๐ บาท

การทำนาดำ

การทำนาหว่าน โดยมากการทำนาหว่านในฤดูนาปี จะทำในนั้นที่ๆเป็นที่ดอน หรือพื้นที่ๆมีน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลากจะพบมากแถบภาคกลาง เช่น บริเวณนั้นที่ราบลุ่มภาคกลางเขตอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว จะหว่านแบบที่เรียกว่าหว่านแห้งหรือหว่านสำรวยหรือหากทำเทือกจะเรียกว่าหว่านเปียก" หรือ "หว่านน้ำตม “

                   การทำนาหว่าน               

   ปัจจุบันการทำนาในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานแทบจะไม่มีฤดูและเวลาที่แน่นอน เพราะจะมีการทำนาต่อเนื่อง และหมุนเวียนกันโดยตลอด หากท่านนั่งรถยนต์ผ่านสองข้างทางที่ทำนาจะพบว่าบางแปลงชาวนากำลังเก็บเกี่ยว บางแปลงข้าวอยู่ในระยะแตกกอ ซึ่งการทำนาแบบต่อเนื่องเช่นนี้จะทำให้มีปัญหาเรื่อง โรคและแมลงศัตรูข้าวระบาด เนื่องจากมีแหล่งอาหารบริบูรณ์ ประกอบกับเกษตรกรมักจะฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวโดยไม่จำเป็น จึงเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการระบาดของศัตรูข้าวมากยิ่งขึ้น และมีต้นทุนในการนำนาสูง จนไม่มีกำไร    

การทำนาในเขตชลประทาน

   ในอดีตวิถีการทำการเกษตรของชาวภาคใต้ จะประกอบอาชีพแบบใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาเช่น การทำสวนแบบพ่อเฒ่า หรือสวนสมรม หรือการปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยเฉพาะ “ชาวนา” จะทำนาโดยอาศัยทุนของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น ไถนาด้วยแรงงานของสัตว์ และคน ใช้ปุ๋ยคอก(ไม้ยา)ปุ๋ยหมัก ใช้ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน (ไข่มด เล็บนก นางพญา หอมจันทร์ นางหมรุย สังหยด ) อยู่อย่างเพียงพอ มีความขยัน ใช้ภูมิปัญญา และเทคโนโลยีพื้นบ้าน  ทำทุกอย่างที่ใช้  ปลูกทุกอย่างที่กิน  โดยยึดหลัก
เงินทองคือมายา ข้าวปลาอาหารสิสำคัญ ”   จึงอยู่อย่างมีความสุข ปลอดหนี้
การเก็บข้าว
   การทำนาในภาคใต้การเก็บข้าว ด้วยแกละ ทีละ “รวง ผูกเป็น เรียง เป็นแล้วนำมาเก็บไว้เป็น "ลอม" บน "เรินข้าว" หรือ"เรือนข้าว" และเมื่อเวลาจะนำไปสี ต้องนำเรียงข้าวมานวดเพื่อให้เมล็ดข้าวเปลือกหลุดร่วงออกจากรวง นำไปตากแดดอีก ๒ แดด เพื่อไล่ความชื้นในเมล็ดข้าว ทำให้สีง่าย และได้เมล็ดข้าวเต็มไม่หัก นับภูมิปัญญาในการทำนาพื้นบ้านของภาคใต้ ที่ในอดีตมีรูปแบบการทำนาที่คล้ายคลึงกันทุกถิ่นที่มีการทำนาแต่ในปัจจุบันมีเหลือให้เห็นน้อย หรือบางท้องถิ่นไม่มีแล้ว เป็นการทำนาใช้เครื่องทุ่นแรง,เครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนและสัตว์กลับกลายเป็นการทำนาแบบจ้างคนอื่นเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบางทีเจ้าของนาเองแทบจะไม่ได้ลงไปดูแลนา ข้าวที่หว่านไว้ จะลงบ้างก็ช่วงที่มีรถมาเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อไปชั่งข้าวเปลือกขาย เป็นการทำนาที่ต้องลงทุนสูงใช้เงินจากการออมหรือการกู้ เป็นการเพิ่มหนี้ และทำให้ขาดทุนได้

  
       การเก็บข้าวด้วยแกละ    แกละและเรียงข้าว      การนวดของชาวนาภาคใต้ 
 
 การเก็บข้าวด้วยเคียว และฟัดข้าว เหมือนการทำนาแบบภาคกลางเริ่มเข้ามาในชุมชนชาวนาภาคใต้เป็นเพราะแรงงานภาคเกษตรหายากเนื่องจากหนีเข้าเมืองทำงานโรงงาน

     ราวก่อน ปี ๒๕๒๐ มีการนำวัฒนธรรม การเกี่ยวข้าว แล้วฟัดของภาคกลางเข้ามาใช้ ในการทำนาของภาคใต้เนื่องจากมีปัญหาเรื่องแรงงานภาคเกษตรไหลเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมในเมือง ทำให้หาแรงงานยาก และค่าจ้างแพง วิถีการทำนาของชาวภาคใต้เริ่มเปลี่ยนไป และหลังปี ๒๕๒๐ เริ่มมีการนำเครื่องจักรกล รถเก็บเกี่ยวข้าวมาเก็บเกี่ยว แทนแรงงานคนในแถบรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา เนื่องจากได้ข้อมูลว่าในแถนถิ่นนี้มีปัญหาเรื่องแรงงานเก็บเกี่ยงข้าวจากกลุ่มคนที่มาฝึกการใช้เคียวในการเกี่ยวข้าวการเกี่ยวข้าวโดยเครื่องจักรนอกจากทำให้เงินค่าจ้างไหลออกจากพื้นที่นับร้อยล้านบาทต่อปี แล้วยังมีปัญหาต่อชุมชนตามมาอีกหลายด้าน อาทิ   สิ่งแวดล้อม  สุขภาวะ วัฒนธรรม
  ซึ่งในอดีตการทำนาของชาวใต้หากใครมีที่นามาก หรือเป็นคน "ใช้ได้" มีโหมฺมาก มีเพื่อนมาก ถึงหน้านาจะมีการออกปาก ขอช่วย(วาน) ให้มาดำนา เก็บข้าว เรียกการทำนาแบบนี้ว่า "การทำนาวาน" หรือไป "กินวาน" เพราะเจ้าของนาจะเตรียมข้าว ปลา อาหารไว้เต็มที่บริบูรณ์

 
การออกปากดำนาวาน                         การออกปากเก็บข้าว

เครื่องมือเก็บข้าวยุคใหม่ที่แพร่กระจาย นอกจากวิถีการทำนาแบบชุมชนภาคใต้จะค่อยๆหมดไป ผลที่ตามมาชาวนายากจน-เป็นหนี้ วิถีล่มสลาย  ดังคำกล่าวของชาวชุมชนที่ว่า "ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง  ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้"           
   ราวปี ๒๕๓๐ การทำนาได้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาอย่างเดียวหันมาขุดนาปรับพื้นที่เป็นการทำ “ไร่ นา สวนผสม” เพื่อความอยู่รอดสู้ปัญหา บางปีนาแล้ง บางปีนาล่ม เนื่องจากการทำนาส่วนใหญ่ เป็น “นาน้ำฝน” ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น มีกินมีใช้ โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ เหลือกินเหลือใช้ นำขาย  ทำให้อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนด้วยหนี้สินจากความขยัน

ไร่นาสวนผสมที่มีการขุดนาเพื่อปลูกผักพืชสวนครัว-ผลไม้ที่หลากหลาย เช่น กล้วย มะพร้าว มะม่วงไผ่ ตะไคร้ ดีปลี ฯลฯไ ด้กิน-ขายตลอดปีหากมีการดูแลดีๆ
พันธุ์ข้าว 
      พันธ์ข้าวที่ใช้ปลูกในภาคใต้ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ และดินฟ้าอากาศ เพราะสมัยก่อนไม่มีชลประทาน มีแต่นำฝนที่หล่นจากฟ้ามาคึงขังอยู่ในนา ซึ่งมีทั้งที่ลุ่มที่ดอน สภาพผืนนามีทั้งดินเหนียว และดินเหนียวปนทราย ด้วยภูมิปัญญาการคัดพันธ์ข้าวที่ใช้ปลูกจึงมีหลากหลายมากกว่า ๑๐๐ สายพันธ์ การปลูกข้าวหลากหลายสายพันธ์ในชุมชน ทางใต้เรียกว่า "ปลูกข้าวหลายตา" ทั้งข้าวไร่ ข้าวนา ข้าว“ สั่งหยุด”(นครศรีฯ)หรือ “สังหยด” (พัทลุง) หรือ "เหนียวแดง"(สงขลา ที่มีหลายชื่อเรียกตามแต่ละถิ่น เป็นหนึ่งในหลายสายพันธุ์ของข้าวพื้นเมืองภาคใต้ ซึ่งกำลังได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นข้าวที่อร่อย รสชาติดี หอม นิ่ม มัน และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง นอกจากนี้ยังมีข้าวพันธุ์เมืองของภาคใต้ที่ชาวนานิยมปลูกไว้เพื่อกิน อาทิเช่น ข้าวเล็บนก ข้าวไข่มด ข้าวนางพญา  ข้าวหอมจันทร์  ข้าวนางหมรุย  ข้าวดอก(พะ)ยอม  ฯลฯ

 พันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้

  การสีข้าว ด้วย“ครกสีหมุน” เป็นภูมิปัญญาเทคโนโลยีการสีข้าวของชาวนาไทยที่สามารถสีข้าวกินเองได้โดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง แถมยังได้ ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือ “ข้าวกล้อง - ข้าวซ้อมมือ” ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพไว้รับประทานอีกด้วย แกลบ รำ ปลายข้าว ใช้เลี้ยงสัตว์

"ครกสีหมุน" เป็นภูมิปัญญาการทำนาและการสีข้าวเพื่อสุขภาพของชาวใต้

 วิถีความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาในภาคใต้ หลังจากการทำนา อาศัยความขยัน ผู้หญิงจะปลูกผักพื้นบ้านไว้กิน ไว้ขายภายในชุมชน ผู้ชายที่ขยันจะขึ้นคาบนำตาลเคี่ยวน้ำผึ้ง ไว้กิน ไว้ใช้ เหลือนำไปขายเป็นรายได้ของครอบครัว หรือเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เพื่อเป็นรายได้ หรือใช้แรงงาน ทั้งยังได้มูลเอาไปใช้เป็นปุ๋ยในการทำนา ปลูกผักสวนครัว บางคนหลังเสร็จฤดูกาลทำนาก็จะลง ’เล หากุ้ง หาปลา


 อยู่แบบพอเพียงต้องเลี้ยง "วัวพันธุ์พื้นเมือง"หรือ "วัวบ้าน"

ไร่นาสวนผสม ที่นิยมกันอยู่พักหนึ่ง ปัจจุบันถูกนาปาล์ม นายาง ซึ่งราคาแพงมาแรง แซงโค้งตัดหน้า รูปแบบไร่นาสวนผสม จนสิ่งแวดล้อมวอดวาย

    ปัจจุบันยางพารามีราคาแพง ทำให้ชาวนาเริ่มหันมาปลูกยางพาราในนาเป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยวตามกระแสทุนนิยมกันมากขึ้นปรับเปลี่ยนนาข้าวเป็นนายาง พื้นที่การปลูกยางเริ่มรุกพื้นที่นามากขึ้น คล้ายๆพื้นที่ในทุ่งระโนด ในอดีตเมื่อราวๆต้นปี ๒๕๓๐ ที่มีการพลิกนาข้าวเป็นนากุ้งทำให้ผืนนาในการปลูกข้าวหมดไปพร้อมๆกับสิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชนที่ดีและหลายๆพื้นที่นากำลังเปลี่ยนนาข้าว เป็นนาปาล์ม ตามนโยบายของรัฐ ต้องติดตามศึกษาข้อมูลในหลายๆด้าน เช่น  ความเหมาะสมกับวิถีชุมชน  สิ่งแวดล้อม  ความคุ้มทุน หลายครอบครัวเริ่มละเลยความพอเพียงในการทำมาหากิน และดำรงชีพ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยขึ้น รายจ่ายมากกว่ารายได้ เริ่มมีหนี้สิน ที่ดินติดจำนอง  หลายคนหลายครอบครัวกลายเป็นคนจนที่ถูก(หลอก)ให้ขึ้นทะเบียน เป็นคนจนที่ถูกกฏหมายตามบัญชีรายชื่อของทางราชการ

นาปาล์ม-นายาง วิถีกระแสใหม่ของชาวใต้ที่ต้องจับตามองว่ามีความยั่งยืนแค่ไหน ใครอยู่ได้ บริษัท นักการเมือง หรือชาวบ้าน วอนนักวิชาการ่วยที

  จากวิถีความเป็นอยู่แบบพอเพียง พอมีพอกิน กลายเป็นคนมีหนี้สิน แทนที่ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดกลายเป็นการดิ้นรนเพื่อหารายได้ใช้หนี้ และผ่อนส่งนายทุน จากวิถีแบบเดิมๆที่อยู่ด้วยปัญญา ถูกมอมเมาจากนักธุกิจและนายทุนด้วยวิธีการต่างๆจนอดใจไม่ไหวต้องวิ่งตามกระแสทุนนิยม บริโภคนิยม จนหมดเนื้อประดาตัว ล้มละลายกันมามาก ผู้คนล้มละลายยังไม่กระไร แต่การหลงกระแส เปลี่ยนวิถีการทำนามาปลูกปาล์ม ปลูกยาง นอกจากเป็นหนี้มากขึ้นแล้ว ยังจะสูญเสียพื้นที่การผลิตคาร์โบไฮเดรทอันเป็นธาตุอารที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ชาติมากกว่านำมัน

สุดยอดสมุนไพรจากข้าวก่ำแก้โรคหัวใจ-ยับยั้งมะเร็ง




จากที่คนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำให้ในประเทศมีข้าวหลายสายพันธุ์ ทั้งที่ข้าวใหม่ๆ ที่นักวิชาการได้พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมา และมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองอีกมายมาย ซึ่งหลายสายพันธุ์กำลังจะสูญพันธุ์ไป ทั้งที่ข้าวพื้นเมืองมีคุณค่าทางโภชนาการที่ควรจะอนุรักษ์
อย่างข้าวเหนียวเมล็ดสีแดง หรือที่รู้จักในนาม “ข้าวก่ำ” ที่เคยปลูกมากในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และน่าน ก็เป็นข้าวพื้นเมืองโบราณอีกชนิด ที่คนสมัยก่อนนิยมนำไปทำขนมไทย จำพวกข้าวหลาม ขนมเทียน ซึ่งทีมคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่ามีคุณประโยชน์เชิงโภชนศาสตร์ เกษตร คือ สารต้านอนุมูลอิสระอย่างแอนโทไซยานิน และแกรมมาโอซานอล เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีผลที่ดีต่อสุขภาพ
เดิมคนโบราณเชื่อว่าเป็นข้าวเพื่อพิธีกรรม และการบำบัดรักษาเบื้องต้น ใช้เป็นยารักษาโรคที่น่าเชื่อถือ คือเรื่องการตกเลือดของหญิงคลอดลูก แก้ท้องร่วง ให้นำข้าวก่ำมาทำเป็นข้าวหลามรับประทานจะช่วยให้ทุเลาได้ ขณะที่ภาคใต้ใช้รักษาโรคผิวหนัง โดยเฉพาะโรคหิด จึงนิยมปลูกบริเวณเล็กๆ ซึ่งนอกจากความเชื่อในเรื่องสมุนไพรและคุณค่าทางอาหารของข้าวก่ำแล้ว สีของข้าวก่ำที่ออกแดงม่วงยังเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เป็นการป้องกันโรคและแมลง โดยถือว่าข้าวก่ำเป็นพญาข้าวที่สามารถสังเคราะห์และปล่อยสารที่จะช่วยป้องกันแมลงและโรคให้แก่ข้าวอื่นๆ ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากการนิยมปลูกข้าวก่ำแทรกกับข้าวขาว เป็นต้น




ดร.ดำเนิน กาละดี หัวหน้าหน่วยวิจัยข้าวก่ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ผลงานวิจัยสำคัญที่คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเสนอเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการคือ คุณประโยชน์เชิงโภชนศาสตร์เกษตร คือ ข้าวก่ำมี สารต้านอนุมูลอิสระอย่างแอนโทไซยานิน และแกรมมาโอซานอล ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระมีผลที่ดีต่อสุขภาพ ในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งกระเพาะ ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด

อย่างไรก็ตาม ข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำถือ เป็นแหล่งพันธุกรรมข้าวที่สำคัญชนิดหนึ่ง แต่ปัจจุบันถูกลดความสนใจ มีการเพาะปลูกลดลง และกำลังจะสูญหายไปจากพื้นที่นา ทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  จึงเริ่มรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวก่ำพื้น เมืองของไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ได้ทำงานวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์เกษตรตลอดมา และประสบผลสำเร็จ มีผลงานวิจัยเผยแพร่เป็นองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เกษตรเป็นที่น่าสนใจ
กระทั่งได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้จัดตั้งเป็น “หน่วยวิจัยข้าวก่ำ” หรือชื่อภาษาอังกฤษ “Purple Rice Research Unit” ชื่อย่อ “พีอาร์อาร์ยู" (PRRU) อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งคณะผู้วิจัยได้เพียรพยายามรวบรวมพันธุ์ข้าวก่ำพื้นเมืองได้ถึง 42 พันธุกรรม จากแหล่งปลูกข้าวทั่วประเทศ ซึ่งพันธุ์ข้าวก่ำที่ ได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์เป็นข้าวเหนียวก่ำ ได้แก่ พันธุ์ก่ำดอยสะเก็ด และก่ำอมก๋อย และผลงานการวิจัยในครั้งนี้ได้จัดให้ผู้สนใจชมมาแล้วในงานวันเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ณ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ส่วนในอนาคตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เชื่อว่าจะสามารถผลิตพันธุ์ข้าวเจ้าก่ำ ที่มีคุณภาพทั้งทางด้านโภชนศาสตร์เกษตร และด้านโภชนศาสตร์สุขภาพ จึงมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวก่ำให้สามารถแข่งขันกับตลาดเสรีได้ สนใจสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร.ดำเนิน โทรศัพท์ 0-5394-4045
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 7 มกราคม 2553 

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้าวอิทรีย์



 ข้าวอินทรีย์
ข้าว  (Rice)  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Oryza  sativa  Linn  รวบรวมจากการสัมภาษณ์เกษตรกรตัวแทนกลุ่มจากพื้นที่ปลูกทั้งหมด  36  ไร่  เกษตรกรแต่ละรายในกลุ่มมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ  6-10  ไร่  ในตำบลโชคสามนา  อำเภอปราสาท  จังหวัดสุรินทร์  และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรในศูนย์ฝึกอบรมเกษตรกรผสมผสานบ้านโนนรัง  ในพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์  15  ไร่  โดยเกษตรกรแต่ละรายในกลุ่มทำการผลิตข้าวอินทรีย์ประมาณ  5-10  ไร่  ในตำบลตลาดไทร  อำเภอชุมพวง  จังหวัดนครราชสีมา
                เกษตรกรตัวแทนของทั้ง  2  กลุ่มดังกล่าวได้นำเสนอการผลิตข้าวอินทรีย์  ดังนี้ 
 
การเตรียมพื้นที่ปลูก
                เลือกพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ติดต่อกันและมีความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยธรรมชาติค่อนข้างสูง  ประกอบด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของข้าวอย่างเพียงพอ  แล้วทำการไถดะ ไถแปร     ไถพรวน  แล้วหว่านโดโลไมท์  ในกรณีที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ไม่พอ  เกษตรกรจะปลูกพืชตระกูลถั่ว  รอจนกระทั่งถั่วเริ่มออกดอกจึงไถกลบ  ถ้าไม่ปลูกพืชตระกูลถั่ว  เกษตรกรจะใช้วิธีไถกลบตอซังหรือหญ้าแทน  ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปุ๋ยพืชสด  เมื่อไถกลบแล้วจึงหว่านโดโลไมท์  เพื่อปรับสภาพดิน
                ในกรณีที่ไม่สามารถหาพื้นที่ขนาดใหญ่ได้  ก็จะมีการรวมกลุ่มในบริเวณใกล้เคียงกัน  แล้วทำการผลิตข้าวอินทรีย์ร่วมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการตลาด
 
การเลือกใช้พันธุ์ข้าว
                นายจันทน์ที  ประทุมภา  ปราชญ์ชาวบ้าน  เลือกใช้ข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง ที่เก็บเมล็ดไว้ใช้เอง 
                นายโกศล  หมายทอง  ศูนย์การเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน  บ้านมะเมียน  ใช้ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ  105  และ  กข  15  โดยเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง
 ภาพที่  1  นาข้าว
                เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวที่ปลูก  เป็นข้าวอินทรีย์   มีหลายพันธุ์  มีผู้รวบรวมไว้  ดังนี้  (สวนสิงห์.      คอม,ม.ป.ป.)
                                1.  ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105ได้รับรองให้เป็นข้าวหอมพันธุ์ที่มีชื่อ ขาวดอกมะลิ 105 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 โดยเริ่มแรกให้ชื่อว่าขาวดอกมะลิ  4 - 2 - 105  (หมายเลข 4 หมายถึงอำเภอที่เก็บมา คือ อำเภอบางคล้า  หมายเลข 2 หมายถึง ชื่อพันธุ์ข้าวที่เก็บในอำเภอนั้น คือ หอมมะลิ และหมายเลข105 คือ ตำแหน่งรวงข้าวของพันธุ์หอมมะลิที่เก็บในที่นั้น)  หอมมะลิ  มีที่มาจากความขาวของเมล็ดข้าว  และความหอมที่คนไทยมักจะนำไปเปรียบเทียบกับดอกไม้ไทยในขณะนั้น คนไทยใช้ดอกมะลิที่มีสีขาวสำหรับบูชาพระ เป็นความประทับใจคล้าย ๆ กัน จึงมีผู้นำมาใช้เป็นชื่อพันธุ์ข้าวหอมของไทย เหตุผลที่ข้าวพันธุ์นี้ได้ถูกนำไปขยายผล เพราะเป็นข้าวที่มีความโดดเด่น ในรูปลักษณ์และรสชาติซึ่งเป็นผลดีทั้งในด้านความหอมและ ความนุ่มของรสชาติจนได้รับความนิยมจากผู้บริโภค       ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่เหมาะสม ได้แก่           ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางบางพื้นที่  ข้าวขาวดอกมะลิ 105  เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสงมีกลิ่นหอม เมล็ดอ่อนนุ่มเมื่อนำมาหุงต้ม  ทนต่อสภาพแล้ง ทนต่อดินเปรี้ยวและดินเค็มคุณภาพการขัดสีดี เมล็ดข้าวสารใส แข็ง มีท้องไข่น้อยทำให้นวดง่ายเนื่องจากเมล็ดหลุดร่วงจากรวงได้ง่ายเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี (กรมพัฒนาที่ดิน,  ม.ป.ป.; บีเฮิร์บผลิตภัณฑ์ข้าวและสมุนไพร, ม.ป.ป.)
                                2.  พันธุ์ปิ่นเกษตร  เป็นข้าวพันธุ์ดีผลผลิตสูง ดูแลง่าย คุณภาพเมล็ดข้าวสารจะเป็น    ข้าวนุ่ม เป็นที่ต้องการของกลุ่มพ่อค้าโรงสี  ข้าวปิ่นเกษตรเป็นลูกผสมระหว่างข้าวขาวดอกมะลิ 105 กับข้าวทนแล้ง เป็นข้าวขาว มีกลิ่นหอม นุ่มเหนียว  ข้าวกล้องมีความนุ่มนวล  เมล็ดมีความยาวกว่า        8 มิลลิเมตร  และเมล็ดใสมีเปอร์เซ็นต์ข้าวสูงเมื่อขัดสี  ข้าวกล้องมีธาตุเหล็กที่เป็นประโยชน์  เมื่อนำมาหุงสุกรวมกับข้าวพันธุ์อื่น จะช่วยให้ความเป็นประโยชน์ของธาตุเหล็กสูงขึ้นซึ่งให้ผลสอดคล้องกัน     ทั้งการทดสอบในระดับเซลล์และในมนุษย์  และด้วยคุณสมบัตินี้ข้าวปิ่นเกษตรจึงได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จากการประกวดข้าวโลก (2nd World Rice Competition) เมื่อปี 2547(ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและหน่วยงานปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว, 2552)
                                3.  พันธุ์หอมชลสิทธิ์  เป็นข้าวหอม ให้ผลผลิตสูง เป็นลูกผสมของข้าวทนน้ำท่วมกับข้าวขาวดอกมะลิ 105  จุดเด่นเป็นข้าวหอมนาปรังทนน้ำท่วม สามารถปลูกได้ทั้งปี  ทนน้ำท่วมได้นานถึง 2 สัปดาห์  ดังนั้นจึงเหมาะกับพื้นที่นาภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ง่าย  ข้าวหอมชลสิทธิ์ดูแลง่าย  ให้เมล็ดข้าวที่มีคุณภาพการสีดี  ถูกคัดเลือกให้มีคุณสมบัติการหุงต้มแบบข้าวขาวดอกมะลิ เมล็ดข้าวมีกลิ่นหอม  ให้ผลผลิตข้าวเปลือกในระดับ 900 – 1000 กิโลกรัมต่อไร่  (ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและหน่วยงานปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว, 2552)
                                4.  พันธุ์  กข 33  (หอมอุบล 80 ) เป็นผลงานวิจัยระหว่างสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) กับ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว เป็นข้าวที่มีคุณภาพเมล็ดคล้ายข้าวหอมมะลิ 105 ทั้งรูปร่างเมล็ดและกลิ่น แต่ไม่ไวแสง ปลูกได้ทั้งปี ต้านทานโรคไหม้ ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าข้าวหอมมะลิ 105  (ฐานข้อมูลพันธุ์ข้าวของไทย, 2550; กรมการข้าว  ความรู้เกี่ยวกับข้าวชาวนา, ม.ป.ป.)
                                5.  พันธุ์หอมนิล  เป็นพันธุ์ข้าวที่มีโภชนาการสูง  ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่ได้รับ       การคัดเลือกและพัฒนาจนได้เป็นข้าวกล้องที่มีเมล็ดเรียวยาว สีม่วงเข้ม เมื่อหุงสุกจะนุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอม น่ารับประทาน ที่สำคัญคือมีโปรตีนสูงถึง 12.5  เปอร์เซ็นต์  ปริมาณคาร์โบไฮเดรต 70  เปอร์เซ็นต์  ปริมาณ amylose  16  เปอร์เซ็นต์  และประกอบไปด้วย ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แคลเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมล็ดมีสีม่วงดำ หอมนุ่ม ผลผลิตต่อไร่      อยู่ในระดับกลางค่อนข้างสูง ดูแลง่าย ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวนาสวน ไม่ไวแสง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี  มีการแตกกอดีแต่ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้งและแมลง  โดยทั่วไปนิยมสีเป็นข้าวกล้องเพราะราคาขายจะสูงกว่าราคาข้าวขาวทั่วไป
                                6.  พันธุ์ กข 15  ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ โดยการใช้รังสีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ โดยใช้รังสีแกมมาปริมาณ 15 กิโลแรด อาบเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในปี พ.ศ. 2508 แล้วนำมาปลูกคัดเลือกที่สถานีทดลองข้าวต่าง ๆ ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนได้สายพันธุ์ KDML 10565G1U-45  สามารถทนแล้งได้ดีพอสมควร  อายุเบา เก็บเกี่ยวได้เร็วมีคุณภาพการหุงต้ม นุ่ม มีกลิ่นหอม  มีคุณภาพการสีดี เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง  และเรียวยาวนวดง่าย  ต้านทานต่อโรคใบจุด         สีน้ำตาลแต่มีข้อควรระวังคือ  ไม่ต้านทานแมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและหนอนกอ  ล้มง่าย         ฟางอ่อน เมล็ดร่วงง่ายไม่เหมาะกับนาลุ่ม ซึ่งระบายน้ำไม่ได้ เพราะข้าวจะสุกในระยะที่น้ำยังขังอยู่ในนาทำให้เก็บเกี่ยวลำบากเหมาะที่จะปลูกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กรมการข้าว, ม.ป.ป.)  หลังจากคัดพันธุ์ดีมาปลูกแล้ว ต่อไปก็เป็นขั้นตอนดูแลเพื่อให้ได้เมล็ดที่สมบูรณ์
 
ภาพที่  2  ลักษณะเมล็ดพันธุ์ข้าว
                การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว  ควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐาน  ผลิตจากแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการดูแลอย่างดี  มีความงอกและความแข็งแรง  ผ่านการเก็บรักษาโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ปราศจากโรค แมลงและเมล็ดวัชพืช หากจำเป็นต้องป้องกันโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์อนุโลมให้นำมาแช่ในสารละลายจุนสี (จุนสี 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) เป็นเวลานาน 20 ชั่วโมง แล้วล้างด้วยน้ำก่อนนำไปปลูก
 
ภาพที่  3  การเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว
  
ภาพที่  4  การเพาะกล้า
 
 
 ภาพที่  5  การเตรียมแปลง
 
การเตรียมดินและการปลูก
                เมื่อไถคราด  ทำเทือก  ควบคุมระดับน้ำในนา  เพื่อลดปริมาณวัชพืช  แล้วปลูกกล้าลงดิน  จะช่วยให้ข้าวสามารถต่อสู้กับวัชพืชได้  ต้นกล้าที่ใช้ปักดำควรมีอายุประมาณ  30  วัน  เลือกต้นกล้าที่แข็งแรง  ปักดำระยะถี่กว่าข้าวโดยทั่วไป  คือ  ระยะระหว่างต้นและแถว  ประมาณ  20  เซนติเมตร  จำนวนต้นกล้า  3-5  ต้นต่อกอ  แต่ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำก็ให้ปลูกระยะถี่กว่านี้  ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องแรงงานในการปักดำ  อาจหว่านข้าวแห้ง  หรือหว่านน้ำตมได้
 
ภาพที่  6  การไถเตรียมดิน
 
ภาพที่  7  ถอนกล้า

 ภาพที่ 8  การดำนา

 ภาพที่ 9  หว่านข้าวงอก/(หว่านน้ำตม)
ภาพที่  10  หว่านข้าวแห้งคลุมฟาง
การดูแลรักษา
                ข้าวอินทรีย์  ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี  ดังนั้น ปุ๋ยอินทรีย์จึงจำเป็นอย่างมาก  เกษตรกรสามารถปลูกพืชบำรุงดิน  เช่น  ถั่วเขียว  ถั่วพร้า  โสน  ก่อนการปลูกข้าวแล้วไถกลบ  หรือปลูกพืชบำรุงดินหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว  นอกเหนือจากการไถกลบพืชบำรุงดินแล้ว  จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยคอก ได้แก่ มูลสัตว์ต่าง ๆ  ที่เลี้ยงในไร่นา  โดยปล่อยสัตว์เหล่านั้น  หากินในนา  ถ่ายมูลลงนาปะปนกับซากพืช
                นอกจากนี้  อาจทำปุ๋ยหมักในบริเวณใกล้เคียงไร่นาเพิ่มเป็นการเติมปุ๋ยให้กับนาข้าวได้สะดวก
                แหล่งน้ำสำหรับนา  เกษตรกรจะมีการขุดสระน้ำ  เนื้อที่ประมาณ  5  ไร่  และโดยรอบจะเป็นคูน้ำเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ
 
การจัดการศัตรูข้าว
                วัชพืช  นับเป็นศัตรูข้าวที่สำคัญ  เนื่องจากวัชพืชถ้าเกิดขึ้นมาพร้อมกับข้าว  จะทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโต  คุณภาพไม่ดี  ซึ่งการทำเทือก  ที่รักษาระดับน้ำให้คงที่เพื่อฆ่าวัชพืชก่อนปลูกนับเป็นวิธีกำจัดวัชพืชที่ดี  นอกเหนือจากการไถคราด  เมื่อพบวัชพืชในนาหลังปลูกข้าวแล้วต้องถอนกำจัด 
แมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ
   ระยะกล้า             
1.  เพลี้ยไฟข้าว  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Stenchaetohrips biformis (Bagnall)  ข้าวในระยะกล้าจะมีเพลี้ยไฟมาดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณปลายใบ  ปลายใบจะแห้ง  เกษตรกรต้องหมั่นตรวจแปลงเพาะกล้า   ถ้าพบอากาศร้อนอบอ้าว  ให้ฉีดพ่นน้ำแปลงกล้าให้ชื้น  เพื่อป้องกันไม่ให้เพลี้ยไฟเข้าทำลาย
 
http://www.brrd.in.th/rkb/data_005/image_bug_animal/bug_016.jpg
ภาพที่  11  ใบข้าวที่แสดงอาการปลายใบแห้ง



 
 

   




ภาพที่  12  ลักษณะการทำลายของเพลี้ยไฟ                ภาพที่  13  สภาพนาข้าวที่เพลี้ยไฟระบาดรุนแรง
 2.  หนอนกระทู้กล้า   มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Spodoptera mauritia (Boisduval)  เป็นผีเสื้อกลางคืนปีกคู่หน้าสีเทาปนน้ำตาล  ความกว้างของปีกกลางออกประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร ปีกคู่หลัง      สีขาว บินเก่งสามารถอพยพได้ไกลเป็นระยะทางหลายสิบ หรือหลายร้อยกิโลเมตร  วางไข่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของข้าว ตัวหนอนมีสีเทาถึงเขียวแกมดำ ด้านหลังมีลายตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้าย  แต่ละปล้องมีจุดสีดำ   ตัวหนอนฟักจากไข่ช่วงเช้าตรู่ และรวมกลุ่มกันกัดกินส่วนปลายใบข้าว กลางวันจะหลบอยู่ในดินใต้เศษใบพืช  ในพื้นนาที่แห้ง บางส่วนอยู่บนต้นข้าวส่วนที่อยู่เหนือน้ำในนาที่ลุ่ม  ชอบเข้าดักแด้ในดินหรือบนต้นหญ้าตามขอบแปลง ตัวหนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ  3.5-4 มิลลิเมตร กว้าง 5-6 มิลลิเมตร  ชีพจักรจะแตกต่างกันตามพื้นที่ระบาด
ลักษณะการทำลาย
                โดยทั่วไปหนอนจะทำลายข้าวในเวลากลางคืน  หนอนระยะแรกจะกัดกินผิวข้าว  เมื่อโตขึ้นจะกัดกินทั้งใบ และต้นข้าวเหลือไว้แต่ก้านใบ  ตัวหนอนจะกัดกินต้นกล้าระดับพื้นดิน  นาข้าวจะถูกทำลายแหว่งเป็นหย่อม ๆ  และอาจเสียหายได้ภายใน 1-2 วัน   ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หนอนมีการเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มคล้ายกองทัพ จากการขยายพันธุ์หลาย ๆ รุ่นบนวัชพืชพวกหญ้า และเคลื่อนเข้าสู่แปลงกล้าและนาข้าวจากแปลงหนึ่งไปยังอีกแปลงหนึ่ง  มักพบระบาดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะหลังจากผ่านช่วงแล้งที่ยาวนาน แล้วตามด้วยฝนตกหนัก การระบาดจะรุนแรงเป็นบางปี บางพื้นที่
การจัดการโรค
กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัย

ระยะแตกกอ
1.  หนอนกอข้าว  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Scirpophaga incertulas  (Walker)  หนอนกอทำลายข้าวตั้งแต่ข้าวเล็กจนถึงระยะข้าวออกรวง  โดยหลังหนอนฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายกาบใบก่อน ทำให้กาบใบมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ซึ่งจะเห็นเป็นอาการช้ำ ๆ  เมื่อฉีกกาบใบดูจะพบตัวหนอน เมื่อหนอนโตขึ้นจะเข้ากัดกินส่วนของลำต้น ทำให้เกิดอาการใบเหี่ยวในระยะแรก ใบและยอดที่ถูกทำลายจะเหลืองในระยะต่อมา ซึ่งการทำลายในระยะข้าวแตกกอนี้ทำให้เกิดอาการ “ยอดเหี่ยว”  ถ้าหนอนเข้าทำลายในระยะข้าวตั้งท้องหรือหลังจากข้าวออกรวงจะทำให้เมล็ดข้าวลีบทั้งรวง รวงข้าวมีสีขาวเรียกอาการนี้ว่า“ข้าวหัวหงอก
http://www.brrd.in.th/rkb/data_005/image_bug_animal/bug_017.jpg


ภาพที่  14  ต้นข้าวยอดเหี่ยว  เนื่องจากหนอนกอข้าว   ภาพที่  15  ข้าวหัวหงอก เนื่องจากหนอนกอข้าว


 
ภาพที่  16  ลักษณะการทำลาย ของหนอนกอข้าว  ระยะแตกกอทำให้ยอดเหี่ยว  ระยะออกรวงทำให้
                      รวงข้าวสีขาวเมล็ดลีบ

ลักษณะการทำลาย
หนอนกอข้าวทั้ง 4 ชนิด ทำลายข้าวลักษณะเดียวกันโดยหลังหนอนฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายกาบใบก่อน ทำให้กาบใบมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ซึ่งจะเห็นเป็นอาการช้ำๆ เมื่อฉีกกาบใบดูจะพบ           ตัวหนอน เมื่อหนอนโตขึ้นจะเข้ากัดกินส่วนของลำต้น ทำให้เกิดอาการใบเหี่ยวในระยะแรก ใบและยอดที่ถูกทำลายจะเหลืองในระยะต่อมา ซึ่งการทำลายในระยะข้าวแตกกอนี้ทำให้เกิดอาการ “ยอดเหี่ยว” (deadheart) ถ้าหนอนเข้าทำลายในระยะข้าวตั้งท้องหรือหลังจากข้าวออกรวงจะทำให้เมล็ดข้าวลีบทั้งรวง รวงข้าวมีสีขาวเรียกอาการนี้ว่า“ข้าวหัวหงอก” (whitehead)

2.  เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล   ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nilaparvata lugens (Stal)    ชนิดปีกยาว (macropterous form)  และชนิดปีกสั้น (bracrypterous form) ชนิดมีปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลมช่วย ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ โดยวางไข่เป็นกลุ่ม เรียงแถวตามแนวตั้งฉากกับกาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อน 16-17 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4-4.5 มิลลิเมตร วางไข่ประมาณ 100 ฟอง เพศผู้มีขนาด 3.5-4 มิลลิเมตร เพศเมียชนิดปีกสั้นวางไข่ประมาณ 300 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัย (generation)
ลักษณะการทำลาย
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อน้ำท่ออาหาร บริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวกแห้งตายเป็นหย่อม ๆ  เรียก  "อาการไหม้"  (hopperburn) โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวงซึ่ง ตรงกับช่วงอายุขัยที่ 2 – 3  (generation) ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวนาข้าวที่ขาดน้ำ ตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่แฉะมีความชื้น นอกจากนี้   เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส โรคใบหงิก  (rice raggedstunt)  มาสู่ต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็นต้นเตี้ยใบสีเขียวแคบและสั้น  ใบแก่ช้ากว่าปรกติ ปลายใบบิด เป็นเกลียว และ ขอบใบแหว่งวิ่น

3.  เพลี้ยจักจั่นสีเขียว   ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nephotettix virescens(Distant)   เพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นแมลงจำพวกปากดูด ที่พบทำลายข้าวในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือNephotettix virescens (Distant) และ Nephotettix nigropictus (Stal) ตัวเต็มวัยของแมลงทั้ง 2 ชนิดมีสีเขียวอ่อนและอาจมีแต้มดำบนหัวหรือปีก ขนาดลำตัวยาวไม่แตกต่างกัน ต่างกันตรงที่ N. nigropictus (Stal) มีขีดดำพาดตามความยาวของขอบหน้าผากระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง แต่ N. virescens (Distant) ไม่มี ตัวเต็มวัยไม่มีชนิดปีกสั้น เคลื่อนย้ายรวดเร็วเมื่อถูกรบกวน  สามารถบินได้เป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร  ชอบบินมาเล่นไฟตอนกลางคืน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ตุลาคม เพศเมียวางไข่ในกาบใบข้าว วางไข่เป็นกลุ่ม 8-16 ฟอง ไข่วางใหม่ ๆ  มีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลและมีจุดสีแดง  ระยะไข่นาน 5-8 วัน ตัวอ่อนมีสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน  ตัวอ่อนมี 5 ระยะ  ระยะตัวอ่อนนาน 14-15 วัน ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 10 วัน
ลักษณะการทำลาย
เพลี้ยจักจั่นสีเขียวอพยพเข้าแปลงข้าวทันทีหลังจากเป็นต้นกล้า และมีปริมาณมากที่สุดในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ   ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและลำต้นข้าว ทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโตและอาจแห้งตายได้ถ้ามีปริมาณมาก และเป็นแมลงพาหะนำโรคใบสีส้ม (yellow orange leaf virus) มาสู่ข้าว  ทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น ใบเหลือง ข้าวออกรวงไม่สม่ำเสมอ เมล็ดลีบ      โดยปกติอาศัยอยู่ส่วนบนของต้นข้าวในตอนเข้า และย้ายลงมาด้านล่างของต้นข้าวในตอนบ่าย  ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนจะแพร่กระจายออกไปไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม  โดยทั่วไปจึงไม่พบจำนวนประชากรมากถึงระดับทำให้ข้าวแห้งตายได้  ฤดูกาลปลูกข้าวครั้งหนึ่งเพลี้ยจักจั่นสามารถดำรงชีวิตได้ 3-4 ชั่วอายุ ตัวเต็มวัยสามารถดักจับได้จากกับดักแสงไฟ  มักพบระบาดในฤดูฝนที่สภาพต้นข้าวเจริญดีเหมาะต่อการขยายพันธุ์
ศัตรูของข้าว พบในข้าวนาปีมากกว่านาปรัง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าว และเป็นแมลงพาหะนำโรคใบสีส้มมาสู่ข้าว
พืชอาหาร  ข้าว หญ้าข้าวนก หญ้าไซ ข้าวป่า
การจัดการ  ทำได้โดย
1). ใช้แสงไฟล่อแมลงและทำลายเมื่อมีการระบาดรุนแรง
2). ปลูกข้าวพร้อม ๆ กัน และปล่อยพื้นนาว่างไว้ระยะหนึ่ง เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลง
3). ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน กข4 กข9 กข21 กข23 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2    ชุมแพ 60  เก้ารวง 88  แก่นจันทร์  นางพญา 132 พวงไร่

4.  แมลงหล่า  ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scotinophara coarctata(Fabricius)  เป็นมวนชนิดหนึ่ง มีลักษณะค่อนข้างกลมคล้ายโล่ห์ ด้านหัวและอกเป็นรูปสามเหลี่ยม ลำตัวมีสีน้ำตาลหรือดำเป็นมันวาว ยาว 7-8 มิลลิเมตร กว้าง 4-5 มิลลิเมตร เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ชอบอาศัยรวมกลุ่มที่โคนต้นข้าวเหนือระดับน้ำในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนจะเคลื่อนย้ายขึ้นบนต้นข้าว เพศเมียวางไข่ประมาณ 200 ฟอง โดยวางไข่เป็นกลุ่ม จำนวน 20-26 ฟองต่อกลุ่ม เรียงเป็นแถวขนานกัน วางไข่ที่ใบข้าวหรือกาบใบบริเวณโคนต้นข้าวใกล้ระดับผิวน้ำ หรือบางครั้งอาจจะวางบนพื้นดิน ไข่มีสีชมพูแกมเขียว ระยะไข่ 4-6 วัน ตัวอ่อนมี 6 ระยะ ตัวอ่อนมีสีน้ำตาลและสีเหลืองกับจุดสีดำ ระยะตัวอ่อน 20-30 วัน ตัวอ่อนมีพฤติกรรมเหมือนตัวเต็มวัย คือหลบซ่อนอยู่ที่โคนต้นข้าวหรือตามรอยแตกของพื้นดินในตอนกลางวันและหากินในตอนกลางคืน ตัวเต็มวัยมีอายุนานถึง 214 วัน อยู่ข้ามฤดูหนาวหรือฤดูแล้ง โดยฟักตัวอยู่ในร่องระแหงดินในที่มีหญ้าขึ้น เมื่อสภาพภูมิอากาศเหมาะสมจะบินเข้าแปลงนา และขยายพันธุ์หลายรุ่น มีการพักตัวหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ตัวเต็มวัยสามารถอพยพได้ระยะทางไกลๆ
ลักษณะการทำลาย
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวบริเวณโคนต้นข้าว ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเหลือง ขอบใบข้าวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำคล้ายข้าวเป็นโรคไหม้ ตามข้อของลำต้นข้าวเป็นบริเวณที่แมลงหล่าชอบเพราะเป็นแหล่งที่มีน้ำเลี้ยงมาก การทำลายในระยะข้าวแตกกอทำให้ต้นข้าวที่อยู่กลาง ๆ กอข้าวมีอาการแคระแกรน มีสีเหลืองหรือเหลืองแกมน้ำตาล และการแตกกอลดลง     ถ้าทำลายหลังระยะข้าวตั้งท้องทำให้รวงข้าวแกรน ออกรวงไม่สม่ำเสมอและรวงข้าวมีเมล็ดลีบ ต้นข้าวอาจเหี่ยวตายได้ ถ้ามีแมลงจำนวนมากทำให้ต้นข้าวแห้งไหม้คล้ายกับถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทำลาย แมลงหล่าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต แต่มักพบทำลายในช่วงข้าวแตกกอเต็มที่ถึงเก็บเกี่ยว
พืชอาหาร  ข้าวป่า หญ้าชันกาด ข้าวโพด
การจัดการ  ทำได้โดย
1) ใช้แสงไฟฟ้าล่อแมลงและทำลายในช่วงที่มีการระบาด เนื่องจากแมลงหล่าชอบบินมาเล่นแสงไฟเวลากลางคืน
2) ปลูกข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นเพื่อลดการเพิ่มประชากรในนาข้าว
3 ) กำจัดวัชพืชที่ขึ้นหนาแน่นในนาข้าว เพื่อให้นาข้าวโปร่ง แสงแดดส่องถึงโคนต้นข้าว ทำให้สภาพนาข้าวไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของแมลงหล่า

5.  หนอนห่อใบข้าว  ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Cnaphalocrocis medinalis (Guenee)  ตัว เต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน  ปีกสีน้ำตาลเหลืองมีแถบสีดำพาดที่ปลายปีก ตรงกลางปีกมีแถบสีน้ำตาลพาดขวาง    2-3 แถบ ขณะเกาะใบข้าวปีกจะหุบเป็นรูปสามเหลี่ยม มักเกาะอยู่ในที่ร่มใต้ใบข้าว เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียเล็กน้อย  เพศเมียวางไข่เวลากลางคืนประมาณ 300 ฟองบนใบข้าว ขนานตามแนวเส้นกลางใบและสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ไข่มีลักษณะเป็นรูปจานสีขาวขุ่นเป็นกลุ่ม ประมาณ 10-12 ฟอง บางครั้งวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ระยะไข่ 4-6 วัน หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ๆ มีสีขาวใส หัวมีสีน้ำตาลอ่อน หนอนโตเต็มที่มีสีเขียวแถบเหลือง หัวสีน้ำตาลเข้ม หนอนโตเต็มที่จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเมื่อถูกสัมผัส หนอนมี 5-6 ระยะ ส่วนใหญ่มี 5 ระยะ หนอนวัยที่ 5 เป็นวัยที่กินใบข้าวได้มากที่สุด ระยะหนอน 15-17 วัน หนอนเข้าดักแด้ในใบข้าวที่ห่อตัวนั้น  ระยะดักแด้ 4-8 วัน ตัวเต็มวัยจะหลบซ่อนบนต้นข้าวและวัชพืชตระกูลหญ้าในเวลากลางวัน และจะบินหนีเมื่อถูกรบกวน
ลักษณะการทำลาย
        ผีเสื้อหนอนห่อใบข้าวจะเคลื่อนย้ายเข้าแปลงนา ตั้งแต่ข้าวยังเล็กและวางไข่ที่ใบอ่อน โดยเฉพาะใบที่ 1-2 จากยอด เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจะแทะผิวใบข้าวส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้เห็นเป็นแถบยาวสีขาว มีผลให้การสังเคราะห์แสงลดลง หนอนจะใช้ใยเหนียวที่สกัดจากปาก ดึงขอบใบข้าวทั้งสองด้านเข้าหากันเพื่อห่อหุ้มตัวหนอนไว้หนอนจะทำลายใบข้าว ทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าวถ้าหนอนมีปริมาณมากจะใช้ใบข้าวหลายๆ ใบมาห่อหุ้มและกัดกินอยู่ภายใน ซึ่งปรกติจะพบตัวหนอนเพียงตัวเดียวในใบห่อนั้น ในระยะข้าวออกรวงหนอนจะทำลายใบธงซึ่งมีผลต่อผลผลิตเพราะทำให้ข้าวมีเมล็ดลีบ น้ำหนักลดลง หนอนห่อใบสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัยต่อฤดูปลูก พบระบาดในนาเขตชลประทาน โดยเฉพาะแปลงข้าวที่ใส่ปุ๋ยอัตราสูง หนอนใช้ใบข้าวห่อหุ้มตัวและกัดกินอยู่ภายใน บริเวณที่ถูกทำลายจะเป็นทางขาวยาวขนานกับเส้นกลางใบ ทำให้การสังเคราะห์แสงของต้นข้าวลดลง

พืชอาหาร
        ข้าว ข้าวป่า ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย หญ้าข้าวนก หญ้าคา หญ้าชันกาด หญ้าไซ หญ้าตีนกา หญ้าตีนนก หญ้าปล้องหิน หญ้าตีนติด
การจัดการ  ทำได้โดย
1) ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นประจำควรปลูกข้าว 2 พันธุ์ขึ้นไป โดยปลูกสลับพันธุ์กัน จะช่วยลดความรุนแรงของการระบาด
2) กำจัดพืชอาศัย เช่น หญ้าข้าวนก หญ้านกสีชมพู หญ้าปล้อง หญ้าไซ หญ้าชันกาด และข้าวป่า
ระยะออกรวง
1.  แมลงสิง  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า   Leptocorisa acuta (Thunberg)   เป็นมวนชนิดหนึ่ง      
 ตัวเต็มวัยมีรูปร่างเพรียวยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร  หนวดยาวใกล้เคียงกับลำตัว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีเขียว เมื่อถูกรบกวนจะบินหนี และปล่อยกลิ่นเหม็นออกจากต่อมที่ส่วนท้อง  ตัวเต็มวัยจะออกหากินช่วงบ่าย ๆ และช่วงเช้ามืด และเกาะพักที่หญ้าขณะที่มีแสงแดดจัด เพศเมียวางไข่ได้หลายร้อยฟองในช่วงชีวิตประมาณ 2-3 เดือน วางไข่เป็นกลุ่มมี 10-12 ฟอง เรียงเป็นแถวตรงบนใบข้าวขนานกับเส้นกลางใบ ไข่มีสีน้ำตาลแดงเข้ม รูปร่างคล้ายจาน  ระยะไข่นาน 7 วัน  ตัวอ่อนมีสีเขียวแกมน้ำตาลอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวก่อน ต่อมาเป็นตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายเมล็ดข้าวในระยะข้าวเป็นน้ำนมจนถึงออกรวง  ตัวอ่อนมี 5 ระยะ
ลักษณะการทำลาย
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าว ระยะเป็นน้ำนม แต่ก็สามารถดูดกินเมล็ดข้าวทั้งเมล็ดอ่อนและเมล็ดแข็งโดยตัวเต็มวัยจะทำความเสียหายมากกว่า เพราะดูดกินเป็นเวลานานกว่าทำให้เมล็ดลีบ หรือเมล็ดไม่สมบูรณ์และผลผลิตข้าวลดลง  การดูดกินของแมลงสิงไม่ทำให้เป็นรูบนเปลือกของเมล็ดเหมือนมวนชนิดอื่นโดยปากจะเจาะผ่านช่องว่างระหว่างเปลือกเล็กและเปลือกใหญ่ของเมล็ดข้าว ความเสียหายจากการทำลายของแมลงสิงทำให้ข้าวเสียคุณภาพมากกว่า  ทำให้น้ำหนักเมล็ดลดลง โดยเมล็ดข้าวที่ถูกแมลงสิงทำลาย เมื่อนำไปสีจะแตกหักง่าย แมลงสิงเริ่มพบในต้นฤดูฝน และเจริญเติบโต ขยายพันธุ์ 1-2 รุ่นบนพืชอาศัยพวกวัชพืชตระกูลหญ้า  ก่อนที่จะอพยพเข้ามาในแปลงนาข้าวช่วงระยะข้าวออกดอก  แมลงสิงพบได้ทุกสภาพแวดล้อม แต่พบมากในนาน้ำฝนและ              ข้าวไร่  สภาพที่เหมาะต่อการระบาดคือ นาข้าวที่อยู่ใกล้ชายป่า มีวัชพืชมากใกล้นาข้าว